มีเรื่องเกี่ยวกับการไปสายในการสัมภาษณ์งานบริษัทญี่ปุ่นมาแชร์ให้ฟังครับ
เมื่อวันก่อนมีคนมาสัมภาษณ์งานที่บริษัท และผมได้รับหน้าที่ให้เป็นล่ามในครั้งนี้
กำหนดการสัมภาษณ์ คือ 10 โมงครึ่ง
ทีมผู้สัมภาษณ์ มีคนญี่ปุ่น 1 คน คนไทยที่เกี่ยวข้องอีก 3 คน กำลังเดินไปที่ห้องประชุม
พอถึงห้องประชุมตอน 10 โมง 20 นาที
ทางฝ่ายบุคคลเดินมาบอกว่า “ผู้มาสัมภาษณ์ยังไม่มาเลย เมื่อเช้าตอน 9 โมง โทรไปคอนเฟิร์มแล้ว เค้าแจ้งว่ามาได้ แต่ตอนนี้โทรไปยังไงก็ไม่ยอมรับสาย”
คนญี่ปุ่นได้ยินดังนั้น หยุดคิดนิดนึง แล้วถามกลับว่า “ปกติแล้วคนไทยจะมาสัมภาษณ์ จะมาถึงประมาณกี่โมง”
“ปกติจะมาก่อนเวลาอย่างน้อย 15-20 นาที”
คนญี่ปุ่นเลยตอบว่า”ถ้างั้นกลับออฟฟิศกันเถอะ คนที่ไม่รักษาเวลา เราไม่ต้องการ”
นี่เป็นตัวอย่างนึงนะครับ เรียกว่าสำหรับบริษัทญี่ปุ่น หากเราไปไม่ตรงเวลา หรือแม้ว่าจะยังไม่ถึงเวลานัดหมาย แต่ถ้าใกล้เวลาแล้ว ยังไม่มาเลย และไม่มีการติดต่อมา เค้าตัดสิทธิการสัมภาษณ์เลยนะครับ
มารยาทในการติดต่อ สำคัญมากนะครับ
หากจะมาสายกว่าเวลา หรือไม่มาแล้ว ยังไงก็ต้องติดต่อมาก่อนนะครับ
สำหรับประสบการณ์การสัมภาษณ์ส่วนตัวของผมเองมีเรื่อง เล่าให้ฟัง 3 เรื่องครับ
เริ่มเรื่องแรก
เป็นเหตุการณ์ที่เกิดกับบริษัทในเรื่องด้านบนนี้ครับ
แต่คราวนี้ผมเป็นผู้มาสัมภาษณ์นะครับ คือเป็นผู้สมัครงานคนนึงนี่แหล่ะ เหตุการณ์เกิดในบริษัทเดียวกันเลย
แต่สถานการณ์กลับกันนะครับ คือ ผมมาก่อนเวลานัดสัมภาษณ์
แต่ปรากฏว่า ตอนมาถึง ก็ยังไม่ได้เข้าสัมภาษณ์ซะที ทั้งที่ถึงเวลานัดสัมภาษณ์แล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากผมแล้วยังมีแคนดิเดต(ผู้สมัครงาน)ท่านอื่น อีก 3 ท่านมารอสัมภาษณ์อยู่เหมือนกัน
อ้าว ทุกคนถูกนัดเวลาเดียวกัน ?
นอกจากนั้นถูกให้นั่งรอจากเวลาที่นัดหมายไปอีก 3 ชั่วโมง จนถึงเวลาเที่ยงซึ่งเป็นเวลาพักทานข้าวของบริษัทนี้
ผมเลยกลับบ้านเลยครับ เพราะถ้ารอน่าจะถึงเย็นแน่ อีกทั้งมีอีก 3 ท่านที่ยังไม่ได้สัมภาษณ์ และเราก็ไ่ม่รู้ว่าจะสัมภาษณ์แล้วได้งานมั้ย
นอกจากนั้นผมไม่ได้อยากทำที่นี่มากอะไรขนาดนั้น และมองว่ายังมีโอกาสงานอยู่อีกเยอะ ไม่ได้จำเป็นต้องรอแต่ที่นี่ก็ได้
เหตุการณ์นี่ก็เป็นตัวอย่างนึงนะครับ คือการสัมภาษณ์งาน ผู้สมัครมักมีอำนาจน้อยกว่ามากๆ
เพราะอยากจะได้งาน อยากได้เงินเค้า หากผู้สัมภาษณ์มาช้ากว่ากำหนด เราก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ต้องรออย่างเดียว^^
ต่อให้เรากลับไป เค้าก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร มีแต่เราที่เสียเวลา เสียค่าน้ำมัน ค่าเดินทางมา ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้งานหรือเปล่า
ที่ไทยจะต่างกับที่ญี่ปุ่น บริษัทที่ญี่ปุ่นบางที่เค้าจะให้ค่าเดินทางเราด้วยนะครับ คือไม่ได้เรียกมาสัมภาษณ์ฟรีๆ
ไม่ว่าจะได้งานหรือไม่ได้เค้าจะให้ค่าเดินทางให้กับเราด้วย
ระบบนี้บางบริษัทญี่ปุ่นที่พึ่งจะเข้ามาในไทย ก็มีบางเหมือนกัน แต่น้อยมากๆ
แต่จากที่เพื่อนเล่าให้ฟัง ก็ได้ยินมาเหมือนกันว่ามีบางบริษัทที่เค้ายังพอให้ค่าเดินทางมาสัมภาษณ์ (แต่ผมไม่เคยได้เลยครับ^^)
ต่อมาหลังจากนั้นหลายปีผมได้งานที่บริษัทนี้ แต่ไม่ได้ต้องมารอสัมภาษณ์อะไรแบบในเหตุการณ์นี้
เรื่องที่สอง
เหตุการณ์นี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานมาแล้ว ในช่วงที่ผมจบมาใหม่ๆ ยังหางานไม่ได้เลย ภาษาญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยแข็งแรง
บริษัทที่ไปสัมภาษณ์อยู่ที่อยุธยา
ผมได้พี่ชายคนคนช่วยขับรถพาไป
ด้วยความที่ตอนนั้นยังไม่มีกูเกิ้ลแมพ ใช้แต่แผนที่กระดาษที่บริษัทให้มา กับอ่านป้ายตามถนนในการเดินทาง
ทำให้หลงทางและไปช้ากว่าเวลานั้น
ตอนนั้นผมโทรบอกเค้าล่วงหน้าก่อนถึงเวลานั้น ว่าน่าจะไปสายสัก 1 ชั่วโมง
ทางบริษัทยังใจดียินดีรอ แต่ปรากฏว่าผมก็ยังไม่ถึงซะที ยังคงหลงต่อ เลยโทรไปขอขยายเวลาออกไปอีก
คราวนี้ด้วยความที่รีบเพราะกลัวจะไปสายอีก
ในระหว่างที่จะเลี้ยวซ้ายเข้านิคมด้วยความรีบ มีมอเตอร์ไซอยู่ทางซ้ายมือ ไม่เบรก รถผมจึงชนกับมอเตอร์ไซต์
แต่ดีที่คนขับมอเตอร์ไซต์ไม่ได้เป็นอะไรมาก
ในระหว่างที่พี่ผมเคลียร์กับคู่กรณี
ผมขอตัวล่วงหน้าไปสัมภาษณ์ก่อน เพราะใกล้เวลาแล้ว เลยนั่งวินมอเตอร์ไซต์เข้าไปสัมภาษณ์
พอไปถึงทางบริษัทยังรออยู่ และให้สัมภาษณ์โดยที่ผมไม่ต้องรอเค้าเลย
ผมเล่าให้ฟังเรื่องที่หลงและเจออุบัติเหตุ (เล่าแบบภาษาไม่ค่อยดี แต่มีพี่ล่ามที่นั้นช่วยแปลให้)
คนญี่ปุ่นไม่ถือสาอะไรผม กลับหัวเราะอารมณ์ดีด้วย
ปรากฏว่าในครั้งนั้น เค้าให้ผมสัมภาษณ์ แม้ว่า ผลการสัมภาษณ์คือ ไม่ได้งานนะครับ
คิดว่า การที่เราโทรติดต่อเค้าอยู่เรื่อยๆน่าจะทำให้เค้ายอมสัมภาษณ์เรา
แต่การที่เรามาสายก็อาจจะเสียคะแนนในการได้งานไปด้วยเหมือนกัน
เรื่องที่สาม
เรื่องสุดท้ายเรื่องนี้ อยากให้อ่านจนจบครับ
คือ ผมได้เป็นผู้รับการสัมภาษณ์ที่บริษัทนึง แถวลาดกระบัง
เผื่อเวลาออกจากบ้าน 2 ชัั่วโมงกว่า
ศึกษาแผนที่กระดาษที่ได้จากบริษัท และเตรียมมือถือที่มีกูเกิ้ลแมพไว้
ปรากฏว่าพอใกล้เวลาก็ยังไปไม่ถึงครับ
หลงทางครับ และมือถือผมก็ไม่ค่อยดี เป็นรุ่นเก่า เปิดแอพกูเกิ้ลไม่ค่อยเสถียร และสุดท้ายเน็ตหมด
ผมโทรไปแจ้งรีครู้ท(บริษัทนายหน้าที่แนะนำงานมาให้เรา) ให้แจ้งทางบริษัทหน่อยว่าจะไปสายสักครึ่งชั่วโมง
แต่พอรู้ว่าครึ่งชั่วโมงก็น่าจะไม่ถึง ก็โทรไปบอกบอกรีครู้ทอีกครั้ง
สรุปคือสายไป 1 ชั่วโมง
ไปถึงเค้าให้ไปรอที่ห้องนั่งรอ
รอไปได้ชั่วโมงกว่าไม่มีใครมาเรียกไปสัมภาษณ์เลย
ผมโทรบอกบริษัทนายหน้า เค้าบอกให้รออีกสักหน่อย
จนรอไปได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ก็มีคนไทยเชิญไปนั่งรอที่ห้องสัมภาษณ์
คนไทยให้ผมนั่งที่นั่ง ที่หันหน้าเข้าหาประตู เก้าอี้เป็นตัวกลางห้อง
สักพักคนญี่ปุ่นเค้ามา
ผมสังเกตแกจะหงุดหงิดๆ อารมณ์ไม่ค่อยดี
หลังจากสัมภาษณ์ คนญี่ปุ่นถามผมว่า “เรียนภาษาญี่ปุ่นแล้วสนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นบ้างมั้ย”
ผมตอบว่า “สนใจครับ”
คนญี่ปุ่นตอบกลับแบบกึ่งดุว่า
“ถ้าอยากจะเก่งภาษาญี่ปุ่นก็ต้องเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นด้วยนะ อย่างเรื่องที่นั่งในการสัมภาษณ์น่ะ คุณเป็นผู้มาสัมภาษณ์ คุณควรนั่งที่ตรงนั้นหรือ? “
การสัมภาษณ์จบลง เค้าไม่ได้ว่าอะไรผมเรื่องมาสายนะครับ แต่ผมไม่ได้งานที่นี่
หลังจากนั้นผมได้ลองเช็คดูพบว่า
ตำแหน่งที่ผู้มาสัมภาษณ์งานควรนั่ง คือ หันหลังให้ประตูทางเข้า และใกล้ประตูมากที่สุด หรือนั่งในเก้าอี้ที่ผู้สัมภาษณ์เค้าเรียกให้ไปนั่ง
ส่วนตำแหน่งของผมคือหันหน้าเข้าหาประตูทางเข้าและนั่งตรงกลางห้อง เป็นตำแหน่งของ คนที่ใหญ่ที่สุดในการสัมภาษณ์ตอนนั้นจะต้องนั่ง
เป็นผมที่ผิดเอง ถึงแม้คนไทยจะพาเราไปนั่งตรงนัั้น แต่ถ้าผมรู้มารยาท ผมสามารถเปลี่ยนอธิบายเค้าและขอเปลี่ยนที่นั่งได้
และเป็นผมเองที่ไม่ได้ชี้แจงกับคนญี่ปุ่นว่าทำไมถึงมานั่งตรงนี้
การที่คนไทยท่านนั้นพาผมมานั่งที่ตรงนี้ก็ไม่ผิดอะไรนะครับ เพราะวัฒนธรรมคนไทย ก็คิดว่าคนมาสัมภาษณ์ก็คือ แขก เค้าก็พอมานั่งที่นั่งของแขก
แต่มารยาทที่นั่งในห้องประชุมอีกอย่างนึงของคนญี่ปุ่น คือ
ในกรณีที่ลูกค้า หรือแขกมา
ตำแหน่งของลูกค้า คือ หันหน้าเข้าหาประตู และนั่งไล่ไปตามลำดับความใหญ่จากกลางโต๊ะ
ส่วนเราฝั่งผู้ต้อนรับ จะนั่งเก้าอี้ที่หันหลังให้ประตู(ตำแหน่งเดียวกับผู้สมัครงาน) โดยผู้น้อยที่สุดจะได้นั่งหันหลังใกล้ประตูที่สุด
มารยาทในการต้อนรับจะต่างกันตามบริบทครับ
นำมาแชร์เล่าให้ฟัง ลองศึกษาดูนะครับ เรื่องมารยาทตำแหน่งการนั่งของคนญี่ปุ่น และบางทีก็แตกต่างกันแต่ละภูมิภาคด้วยครับ
หากเข้าใจมารยาทจะช่วยในเรื่องสมัครงานได้ด้วยครับ
ขอให้โชคดีและมีความสุขในการทำงานกับคนญี่ปุ่นครับ