ช่วงนี้ได้แปลสัมภาษณ์งานค่อนข้างบ่อยนะครับ
พอหลังจากสัมภาษณ์จะมีการคุยกันของกรรมการสัมภาษณ์ว่าเค้าคิดกันยังไง
และตัดสินใจในการรับคนเข้างานเค้าดูอะไรบ้าง และคนญี่ปุ่นเค้าคิดยังไงบ้าง
เลยว่าจะเอาเฉลยข้อสอบมาบอกกัน
เท่าที่ผมสังเกตคนญี่ปุ่นจะมองทัศนคติ และจิตสำนึก และความซื่อสัตย์เป็นสำคัญ
ความน่าเชื่อถือ ความดูคุณเป็นคนที่เค้าจะสามารถไว้ใจได้ บางทีคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญในสิ่งนี้มากกว่าเรื่องความสามารถ หรือจำนวนเงินที่คุณเรียกเสียอีก
หลายครั้งผมยังเสียดายแทนเลย กรรมการคนญี่ปุ่นเค้าไปจุกจิกกับเรื่องบางเรื่องที่ไม่น่าจะต้องใส่ใจมากขนาดนั้น
จนทำให้พลาดคนที่ทำงานได้และเรียกค่าตอบแทนไม่แรง
คนญี่ปุ่นในวัย 40-50 ในยุคนี้เค้ายังมองการรับคน แบบจ้างกันระยะยาวอยู่เลย
คือต้องการคนที่ซื่อสัตย์ ไม่เก่งมากก็ได้ แต่ขอให้ทำงานกันได้นานๆ
ความสามารถไว้ค่อยมาฝึกกันอีกทีในภายหลัง ขอได้คนที่เชื่อฟัง อยู่ในกรอบ
เค้าให้ความสำคัญกับวินัย การเชื่อฟัง มากกว่าความคิดสร้างสรรค์ กล้าหาญ และอิสระทางความคิด
บางทีวัฒนธรรมนี้อาจจะเป็นปัจจัยนึงที่ทำให้องค์กรญี่ปุ่นแพ้ให้กับ บริษัทเกาหลีและจีนอย่างในปัจจุบัน
เรื่องเล็กๆที่ดูเหมือนจะไม่สำคัญ แต่ญี่ปุ่นคอยจับตาดูอยู่ ที่อาจจะทำให้คุณพลาดโอกาสในการได้งาน
1.ข้อมูลในเรซูเม่ควรตรงกับความเป็นจริง
เช่น รูปถ่าย วันเดือนปีประวัติของสถานทีทำงานแต่ละที่ หรือไม่ระบุระบุจำนวนเดือนปีที่เข้าและออกของแต่บริษัท
หากตอนพูด กับข้อมูลในเรซูเม่ไม่ตรงกันจะเป็นประเด็นได้
เรื่องนี้แม้ว่าอาจจะไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่ถึงขนาดไม่รับเข้าทำงานเลย
แต่ก็อาจจะโดนเค้าถามเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ได้
มีน้องผู้สมัครอยู่คนนึง เรซูเม่เขียนเวลาทำงานไว้อย่างนึง แต่ตอนที่พรีเซ็นท์ พูดไปอีกอย่างนึง ข้อมูลต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ถามไปถามมา ตอบวกไปวนมา คำตอบกว่าจะเคลียร์ ต้องถามถึง 3 รอบ
ไม่แน่ใจว่าน้องเค้าลืม หรือจงใจตอบมั่วๆ
แต่คนญี่ปุ่นเค้าจะสงสัยในเชิงลบไว้ก่อนครับ คือในองค์กรญี่ปุ่นถ้าใครโกหก เค้าจะซีเรียสมาก เพราะทำให้การทำงานในระบบของเค้ามีปัญหาในอนาคต
เช่นมีปัญหาแล้วไม่มารายงาน หรือกุเรื่องโกหกขึ้นมา ถือว่าเป็นความผิดที่รุนแรงมากในองค์กรญี่ปุ่น เพราะทำให้เข้าใจผิดทาง
คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นคนขี้สงสัย ละเอียด ช่างซักถาม และระวังตัว ไม่ไว้ใจอะไรง่ายๆอยู่แล้ว
ยิ่งถ้าเราตอบคำถามเรื่องง่ายๆ พวกนี้ยังต้องโกหก คุณจะเสียคะแนนมากๆเลย
ส่วนตัวผมตอนที่ไปเข้ารับการสัมภาษณ์งานก็มีเหมือนกันที่เรซูเม่ ที่ผู้สมัครได้รับ ข้อมูลไม่ตรงกับเรื่องที่ผมพรีเซ็นท์
เหตุผลเป็นเพราะบริษัทจัดหางาน ไม่ได้อัพเดทเรซูเม่ของผมให้ตรงกับปัจจุบัน
ทำให้ข้อมูลผิด เรื่องนี้บางทีคุณควรเช็คกับผู้สัมภาษณ์ดูก็ดีนะครับ อาจจะแจ้งไปว่าข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริงเพราะเอเจ้นท์ทำมาผิด
2.สาเหตุในการลาออกต้องแน่น
เรื่องนี้เหมือนเป็นคำถามสำคัญมากเลยในการสมัครงาน
แม้ว่าจะดูเก่งแค่ไหน ความสามารถเหมาะกับตำแหน่งแค่ไหน แต่พอโดนข้อนี้ไปแล้วให้คำตอบไม่ได้ โดนปรับตกกันระนาวเลย
เนื่องเพราะคนญี่ปุ่นเค้าแอนตี้คนทำงานแล้วลาออกบ่อยมาก
จะโดนถามทุกคนเลยที่ทำงานที่ละ 1-2 ปี แล้วลาออก ทำไมถึงลาออก
คือถ้าใครทำไม่ถึง 5 ปี คนญี่ปุ่นจะมองว่าคนนั้นทำงานได้ไม่นาน
ปกติคนญี่ปุ่นทำงานก็จะประมาณ 10 ปี ต่อที่ กรณีแบบนี้จะเปลี่ยนงานก็ไม่แปลก
ยิ่งถ้าใครทำงานไม่ถึงครึ่งปีแล้วลาออก แนะนำอย่าเอามาลงเรซูเม่เลยครับ จะทำให้ภาพพจน์ดูไม่ได้
แต่สำหรับเรื่องนี้ในปัจจุบันคนไทย ส่วนใหญ่ทำงานไม่ค่อยได้นานขนาดนั้น อาจจะเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วน่าจะไม่แย่ไปกว่ากันมาก
แนะนำสาเหตุที่ใช้ลาออกจากงานแล้วโอเคคือ
2.1 ต้องการสร้างโอกาสการใช้ภาษาให้มากขึ้น (ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ)
ต้องโอกาสงานในที่ใหม่ ได้เงินเดือนและตำแหน่งที่ดีกว่าเดิม อันนี้ใช้ได้
2.2 หมดสัญญาในการจ้างงาน
อันนี้มุขเบสิก ค่อนข้างใช้ได้
แต่ต้องตอบให้ได้ว่า จบสัญญาจ้างเพราะอะไร
เช่นคนญี่ปุ่นที่มาซัพพอร์ตกลับประเทศ งานโปรเจคจบแล้ว ในโปรเจคนี้เค้าไม่มีความต้องการจ้างงานล่ามอีกแล้ว
หากเป็นล่ามประจำแบบสัญญาจ้าง อาจจะโดนถามได้ว่า ทำไมไม่ต่อสัญญาที่เดิม ก็ต้องมีเหตุผลตอบเค้าให้ได้
แต่หลังจากผมมาเป็นล่ามฟรีแลนซ์ เรื่องของเหตุผลที่ลาออก เลยไม่เป็นประเด็นสำหรับผมเลย
2.3 ไปเรียนต่อต่างประเทศ
เรียนต่อปริญญาโท อันนี้เหตุผลที่โต้แย้งอะไรไม่ได้เลย และเป็นเหตุผลที่ดีมาก
2.4 ลาออกไปดูแลญาติที่ป่วย
อันนี้ให้ 50 คะแนน อาจจะดูเหมือนได้ผล แต่ฟังแล้วบางทีพิสูจน์ไม่ได้
คนญี่ปุ่นก็อาจจะยังถามเพิ่มอีกว่าแล้วถ้าได้งานแล้ว จะต้องออกไปดูแลอีกมั้ย
สำหรับตัวผมเอง เคยรับลูกน้องเข้ามาทำงานในธุรกิจส่วนตัวแล้ว โดนเหตุผลนี้ในการขอลาออกบ่อยเหมือนกัน
ส่วนตัวเลยไม่ค่อยให้น้ำหนักกับเหตุผลนี้เลย ส่วนใหญ่คิดว่าเป็นข้ออ้างซะมากกว่า
เพราะเคยมีอยู่คนนึง ขอลาออกไปดูแลแม่ แม่ขาไม่ดี
พอลาออกไป 1 อาทิตย์ กลับมาขอทำงานใหม่ บอกแม่หายให้ 555
2.5 ลาคลอด
อันนี้ก็ให้ 50 คะแนน อาจจะใช้ได้กับบางทีและอาจจะไม่ได้กับบางที่
เพราะจริงๆไม่ต้องลาออกก็คลอดที่ทำงานนี้ก็ได้
ส่วนใหญ่ด้วยเหตุผลส่วนตัว คนญี่ปุ่นจะให้คะแนนไม่เต็มน่ะครับ
2.6 ไปรักษาโรคส่วนตัว
อันนี้ญี่ปุ่นอาจจะเชื่ออยู่ แต่ก็จะดูสถานะของโรคประกอบด้วย และอาจจะขอใบรับรองแพทย์กำกับด้วย
คือถ้าเป็นโรคที่รักษาหายมาแล้ว ก็มีสิทธิ์ที่จะได้งาน
แต่ถ้าเป็นโรคเรื้อรัง คุณอาจจะไม่ได้งานเพราะเค้าก็จะมองว่าคุณก็อาจจะทำได้ไม่นานก็ต้องลาออกไปรักษาตัวอีก
และถ้าเป็นโรคที่เกิดจากการกระทำที่ประมาท ส่วนตัวของคุณ เค้าก็จะประเมินอีกว่าคุณเป็นคนแบบไหน
บางทีถ้าเป็นนิสัยเสียส่วนตัวเลยเป็นโรคนี้ อันนี้อาจจะมีสิทธิ์ไม่ได้งาน
คนญี่ปุ่นเค้าไม่ได้มองการรับคนเป็นความเมตตาน่ะครับ เค้ามองถึงประโยชน์ต่อบริษัทมากกว่า
3.หลีกเลี่ยงสัมภาษณ์ในเวลาทำงานของบริษัทอื่น
มีคนที่สัมภาษณ์งานในรถ แม้จะจอดรถคุย
แต่พอถามปรากฏว่าอยู่ระหว่างกำลังเดินทางจะไปหาลูกค้า (คือเอาเวลางานมาสัมภาษณ์)
และอีกเคส อันนี้หนักเลย
นอกจากเป็นเวลางานแล้วยังเอารถบริษัทเดินทางมาสัมภาษณ์งาน
แถมคนขับรถบริษัทก็นั่งรออยู่ในรถ
เรื่องนี้บางทีอย่าให้รู้จะดีกว่านะครับ แม้ว่าผมจะสนับสนุนให้พูดความจริง 555
แต่ผู้สัมภาษณ์ท่านนี้เป็นคนซื่อสัตย์ครับ เลยอดได้งานเลย
ทั้งๆที่โปรไฟล์ทุกอย่างผ่านการสัมภาษณ์แล้วนะครับ คือ เค้าให้งานแล้วอ่ะ แต่ตกที่เอารถบริษัทมาใช้
4.ตอนสัมภาษณ์พยายามมองกล้องตลอด
เรื่องนี้อาจจะไม่ได้เป็นกับญี่ปุ่นทุกคน แต่ประเด็นนี้ยุ่นท่านนี้นำกลับมาเป็นประเด็น
คือผู้สัมภาษณ์เวลาพูดมักจะมองสายตาไปที่จุดอื่นอยู่เสมอ ไม่ใช่ที่หน้ากล้อง
จนคนญี่ปุ่นถามว่าเวลาสัมภาษณ์ใช้กล้องอะไร
รู้มั้ยว่าเลนส์อยู่ตรงไหน? จะทักให้มองกล้อง
เพราะแสดงความจริงใจ
และกังวลว่า มีการแปะโพยไว้ที่อื่น หรือเปล่าเลยต้องหันไปมองบ่อยๆ
5.ควรตอบคำถามด้วยทัศนคติที่ดี
คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับทัศนคติมากๆ
การตอบคำถามของเราจะสะท้อนทัศนคติของเราออกมา
ทัศนคติสะท้อนถึงความคิด และมุมมอง และความเป็นตัวเรา
คนญี่ปุ่นจะใช้สิ่งนี้พิจารณาว่าคนนี้เหมาะกับงานนี้หรือเปล่า
อย่าตอบอะไรที่เป็นแง่ลบ หรือในแง่ที่สะท้อนนิสัยเสียของเราออกมา
และเค้ากลัวว่าเราอาจจะไปทำลายบรรยากาศในที่ทำงานได้
6.อย่าตอบคำถามพูดไปเรื่อย
พยายามจับประเด็นให้ได้ว่าเค้าอยากอะไรเกี่ยวกับตัวคุณ
อย่าตอบอะไรที่เกินความจำเป็นสำหรับคำถามนั้น หรือพูดไปเรื่อยออกนอกประเด็นไปไกล
เพราะผู้สัมภาษณ์เค้าก็มีเวลาจำกัดเหมือนกัน
พยายามพูดให้เค้าเห็นข้อดึของคุณให้เยอะที่สุด
ในช่วงเวลาสัมภาษณ์ เป็นช่วงเวลาโชว์ของ ของคุณเลย
มีอะไรใส่ได้ใส่ แต่อย่าโม้โดยไม่มีข้อพิสูจน์
อย่าลืมว่าคนญี่ปุ่นชอบมากเลย ในการจับผิดคน และพิสูจน์คำพูดของคน
7.คำถามตอนท้าย
พยายามถามในเรื่องของงานของตัวเอง
พยายามให้เค้าเห็นว่าเราอยากทำงานที่นี่และใส่ใจกับงาน
หรือบางครั้งอาจจะแจ้งข้อแม้ของคุณไปเลย ว่าคุณต้องการอะไรบ้าง
เพราะบริษัทไม่ได้เป็นคนเลือกคุณฝ่ายเดียว คุณเองก็กำลังเลือกบริษัทอยู่เหมือนกัน
8.พูดด้วยความมั่นใจ
อย่าตอบคำถามด้วยความรู้สึกรำคาญ ตอบๆไปให้จบ น้ำเสียงเบา และไม่น่าสนใจ
ใครที่มีส่วนในการตัดสินใจ
แม้ว่ากรรมการเข้าสัมภาษณ์จะมีหลายท่าน
แต่คนที่เป็นคีย์แมนในการตัดสินใจว่าจะรับไม่รับ
ส่วนใหญ่ คือ หัวหน้างานของตำแหน่งของคุณ และเพื่อนร่วมงานในแผนกเดียวกับคุณ
ซึ่งสองคนที่ว่านี้บางทีไม่เกี่ยวกับว่าเป็นคนไทยหรือคนญี่ปุ่น
คนญี่ปุ่นให้สิทธิในการตัดสินใจกับคนไทย เพราะเป็นผู้ร่วมงานกันจริงๆ
ในสถานการณ์ที่มีคนญี่ปุ่นเข้าสัมภาษณ์หลายท่าน
ส่วนใหญ่ฝ่ายบุคคลหรือคนญี่ปุ่นที่เป็นฝ่ายบุคคลจะให้ผูัร่วมงานจริงๆเป็นผู้ตัดสินใจ เค้าจะอยู่ในบทบาทผู้ให้ความเห็นเสริม
แต่ข้อมูลรายได้สวัสดิการต่างๆ เราสามารถถามฝ่ายบุคคลได้เต็มที่ หรือบางทีเค้าจะบอกของเค้าเอง
เวลาตอนสัมภาษณ์ลองสังเกตให้เจอว่าใครที่น่าจะเป็นคนตัดสินว่าคุณจะได้งานหรือไม่ได้
เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนที่ถามคำถามคุณจะส่งผลต่อการได้งานของคุณ