วิธีการตอบคำถามคนญี่ปุ่นช่างจี้

วิธีการตอบคำถามคนญี่ปุ่นช่างจี้

แชร์บทความนี้

เพื่อนๆที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่น หลายๆครั้งคงเคยเจอปัญหาโดนญี่ปุ่นถาม

แล้วสุดท้ายมาจบด้วยการทะเลาะกัน หรือโดนด่า โดนว่า 

วันนี้บทความนี้จะมาแนะนำวิธีการตอบคำถามของคนญี่ปุ่นให้ไม่โดนว่านะครับ

 

การทำงานกับคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่แล้วมักจะถามจู้จี้ ถามจุกจิก ถามละเอียด

เพราะการทำงานของบริษัทญี่ปุ่น เค้าจะค่อนข้างละเอียดกันเกือบทุกองค์กรนะครับ

อย่างที่เรารู้กันดีว่า คนญี่ปุ่น พิถีพิถัน ใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ 

เวลาเค้าคิดอะไรจะคิดอย่างละเอียด คิดป้องกันล่วงหน้า เพื่อป้องกันความผิดพลาดให้ได้มากที่สุด

ทำให้การทำงานของเค้าค่อนข้างละเอียด ชอบถามจุกถามจิก 

 

นอกจากนั้น คนญี่ปุ่นเองก็มีหัวหน้าที่ต้องรายงานด้วย

ถ้าเค้าไม่ทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เค้าไปรายงานผู้ใหญ่ผิด ตัวเค้าก็จะโดนเองเหมือนกัน

 

แนวทางการตอบคำถามสำหรับญี่ปุ่นจู้จี้

1.ตอบตามความจริง

บอกตัวเองไว้ก่อนเลยนะครับ ว่า “อย่าโกหก” 

เรื่องนี้สำคัญที่สุดเลย เป็นพื้นฐานในการรายงานกับคนญี่ปุ่น

เท่าที่ผมสัมผัสกับคนญี่ปุ่นมาส่วนใหญ่ เค้าจะเกลียดคนโกหกมาก

ถ้าเมื่อไหร่สักครั้งที่เค้าจับได้ว่าคุณโกหก

ความน่าเชื่อถือจะหมดไป 

และครั้งหน้าต่อให้คุณพูดความจริงก็ยากแล้วที่จะเค้าจะเชื่อคุณ 

มีพี่ที่ผมรู้จักคนนึง เค้าชอบแถ โกหกมาบ่อยมาก พอเค้ารายงานความจริงแล้ว คนญี่ปุ่นก็จะไม่เชื่อ และบอกให้ไปทำรายงานมา

เนี่ยแหล่ะ แทนที่จะคุยกันง่ายๆ ก็จบกลายเป็นว่าต้องเรื่องเยอะมากขึ้น ในการอธิบายเรื่องอะไรสักเรื่องนึง

สาเหตุหลักก็เกิดจากคำโกหกของเรานั้นเอง

 

และยิ่งโกหกเพื่อปกปิดความผิดของตัวเองแล้วยิ่งหนักเลย

ยอมรับความผิดจริงแบบลูกผู้ชายไว้จะได้ผลดีกว่า

คนญี่ปุ่นไม่ชอบความผิดพลาดก็จริง แต่ที่เกลียดมากกว่าคือคนที่โกหกเมื่อตัวเองทำผิดพลาด

เพราะคนที่ไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง

พอไม่คิดว่าเป็นความผิดก็ไม่คิดที่จะปรับรุง

ไม่คิดที่จะปรับปรุงก็ไม่เกิดการพัฒนา

ต่อไปจะทำผิดพลาดซ้ำเดิมอีก

เรื่องนี้คนญี่ปุ่นเค้าถือมากๆเลย

เหมือนที่เค้ามักจะหามาตรการที่จะทำให้ไม่เกิดปัญหาซ้ำขึ้นอีก

ที่เรียกว่า ไซ-ฮา-สึ-โบ-ชิ-ไท-ซา-คุ(再発防止対策)แปลว่ามาตราการป้องกันการเปิดซ้ำ

มาตรการนี้บริษัทญี่ปุ่นมักจะรายงานต่อกันอยู่บ่อยๆเมื่อเกิดปัญหา

 

อีกเรื่อง คือ ขอให้จำไว้ว่า ที่ญี่ปุ่นสอบถามเค้าไม่ได้จะจับผิด เพื่อทำโทษนะครับ

สิ่งที่เค้าต้องการ คือความจริงเพื่อการแก้ไข และพัฒนา

เพราะฉะนั้น หากเราให้ความร่วมมือเพื่อให้เค้าได้ข้อมูลที่ถูกต้องไม่ได้

การที่เราจะได้รับความไว้วางใจจากเค้าเป็นเรื่องที่ยาก

 

2.ตอบให้เข้าใจง่ายที่สุดเข้าไว้

คนญี่ปุ่นชอบความเรียบง่ายมากๆในเรื่องของการรายงาน

ความเรียบง่ายแบบมีหลักการและเหตุผล ทำให้นายญี่ปุ่นไม่ถามต่อ

อย่าพยายามพูดให้ยาก พูดให้ซับซ้อน หรือพูดปัจจัยอะไรมากมายที่ไม่เกียวข้อง

ก่อนตอบให้ไตร่ตรองดูก่อนว่าอะไรเป็นสาเหตุจริงๆ อะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล

ให้ตัดออกมาเฉพาะประเด็นสำคัญ ที่อธิบายให้เข้าใจ

เช่น เรามาทำงานสายวันนี้

เพราะเมื่อตอนกลางคืนมีนัดไปรับแฟนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ

แต่ไฟล์ของนางจะมาถึงตอน 5 ทุ่ม กว่าจะผ่านเกตออกมาได้ และกว่าจะหากันเจอเพราะแบตโทรศัพทเราหมด โทรติดต่อนางไม่ได้

และนางก็ติดต่อเราไม่ได้ ทำให้ใช้เวลานานมากกว่าจะหากันเจอ

ต้องไปประกาศกับประชาสัมพันธ์ ตอนแรกแฟนก็เกือบจะกลับเองไปแล้ว กว่าจะหาเจอกันก็ปาเข้าไปตี1

ประจวบกับแฟนก็พึ่งกลับมาจากเดินไฟล์นานหลายชั่วโมงต้องแวะพาแฟนไปหาอะไรทานก่อน

กว่าจะกลับมาถึงบ้านก็ปาเข้าไปตี 3 อาบน้ำได้เข้านอนตอนตี 4

ที่ทำงานเราอยู่ไกลจะเดินทางให้ทัน 8 โมงต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 

ทีนี้พอนอนตี 4 นอนไม่พอ ก็เลยตื่นสายมาตอน 7 โมง

กว่าจะเดินทางมาถึงที่ทำงานรถติดอีกทำให้ถึงที่ทำงานตอน 9 โมง

 

มีบางคนเหมือนกันนะครับ ที่อธิบายเหตุการณ์ด้านบนแบบเข้าใจยากมาก

ควรจะอธิบายคนญี่ปุ่นยังไงดี

ถ้าบอกไปว่าเราไปทำอะไรมาถึงนอนตื่นสาย ก็ไม่ดีนะครับ เพราะไม่ใช่ธุระที่เกียวกับบริษัท

หรือบอกว่ารถติด ก็ไม่ใช่อีก

สิ่งที่ควรบอก ก็แค่ “นอนตื่นสายครับ ขอโทษด้วยครับ” แค่นั้นก็พอครับ

ส่วนสาเหตุที่ตื่นสายถ้าเค้าต้องการรู้เราก็ค่อยบอกเค้าไป 

พยายามอย่าพูดเหตุก่อนผล เพราะจะทำให้คุณดูเป็นคนชอบแก้ตัว 

ถ้าเค้าถามมาว่าเพราะอะไร ก็ตอบไปสั้นๆว่า “เมื่อคืนไปรับแฟนไฟล์ดึกกว่าจะกลับบ้านได้นอนก็ตี4”  เท่านั้นก็พอครับ

งดดราม่า งดประเด็นปลีกย่อย ตอบแบบแสดงความรับผิดชอบ

เพราะไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไร การที่เราไปทำงานสาย มันก็คือสาย

 

3.ไม่ชัวว์ อย่าตอบมั่ว

ใกล้เคียงกับข้อ 1 แต่บางทีไม่ได้ต้องการโกหกหรอก

เพียงแค่จำได้คร่าวๆ ยังไม่ชัวว์ แต่คิดว่าตอบๆไปก่อน

ถ้าในประเด็นไ่ม่สำคัญ ก็ไม่เป็นไรมาก

แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องละเอียดให้เช็คก่อนตอบดีกว่า

 

คนญี่ปุ่นช่างจดช่างจำครับ ชอบเช็ค ชอบพิสูจน์ข้อเท็จจริงอยู่เสมอครับ

คือ คนชาตินี้ถูกฝึกนิสัยให้ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ถ้าไม่ได้รับการพิสูจน์

คำตอบที่แนะนำ ที่ผมเองก็ใช้บ่อย  คือ

  • ขอตรวจสอบก่อนครับ
  • ผมคิดว่า …….. แต่ยังไงจะลองตรวจสอบดูอีกทีครับ 
  • หรือว่าในกรณีที่ไม่รู้ ให้ตอบไปว่า ผมไม่ทราบครับ แต่จะไปเช็คมาให้ครับ

คนญี่ปุ่นไม่ติดใจอะไรกับคำตอบแบบนี้เลยครับ 

การไม่รู้ไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ได้ทำให้ตัวเองดูโง่ 

แต่การตอบมั่ว และได้คำตอบที่ผิด สำหรับคนญี่ปุ่นถือว่าเป็นปัญหามาก

 

4.อย่าตอบเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้อง 

ถ้าเค้าถามเรื่องอะไรมา ให้ตอบเรื่องนั้น อย่านอกเรื่อง หรืออ้างเรื่องอื่น

พยายามเล่าเรื่องให้สั้นเข้าไว้ เข้าใจง่าย และเกี่ยวข้องกับประเด็น

ถามA ตอบ B  ถามไปเรื่อยๆหลายครั้งก็ยังไม่ได้คำตอบ ได้แต่ข้อแก้ตัว 

ประเด็นนี้มักทำให้คนญี่ปุ่นหงุดหงิดอยู่บ่อยๆ

ภาษาก็คนละภาษากันอยู่แล้ว ยิ่งทำเรื่องให้เข้าใจยาก พูดเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันอยู่

ส่วนใหญ่ก็โดนด่ากันไป หรือบางทีล่ามก็โดนไปด้วยครับ

 

ที่คนไทยมักพลาดเป็นเพราะว่า

ชอบเล่าสาเหตุ หรือ แจ้งข้อโต้แย้ง ก่อนที่จะตอบคำถามเค้า

เพราะชอบคิดไปก่อนล่วงหน้า ว่าถ้าตอบไปตรงๆจะโดนด่า 

เลยมักจะอธิบายเหตุผลไปก่อน ซึ่งพอเป็นแบบนั้น ยิ่งทำให้ดูเหมือนกำลังแก้ตัว

คนญี่ปุ่นเกลียดคนชอบแก้ตัวครับ และชอบคนที่กล้าหาญ กล้ายอมรับความผิด

บางคนก็พยายามแถ เอาเรื่องนู้น มาผูกกับเรื่องนี้ พอเช็คดูดีๆ แล้วไม่ได้เกี่ยวกันเลย 

ยิ่งคุยยิ่งงง ยิ่งไม่เข้าใจ คนญี่ปุ่นเค้าก็รีบๆ ก็หงุดหงิดรำคาญ ทำให้มีปัญหากันบ่อยๆ

 

5.อย่าแสดงอารมณ์หงุดหงิดกลับ

เรื่องนี้แน่นอนว่าไม่เฉพาะคนญี่ปุ่นหรอก

ใครก็เป็นเหมือนกัน เมื่อเจ้านายซักถาม ก็คือต้องการคำตอบ

แต่พอถามแล้วเจ้าตัวมีอารมณ์ มีน้ำโห หรือเถียงกลับ 

คนญี่ปุ่นก็จะมองว่าคนๆนี้มีปัญหาแล้ว

เพราะโดยปกติสังคมญี่ปุ่นผู้อาวุโสมักจะมีสิทธิที่จะใช้อำนาจ พูด หรือให้ความเห็นได้

แน่นอน เรื่องนี้ผมไม่ขอวิจารณ์ว่าดีหรือไม่ดี แต่ธรรมชาติที่เรามาทำงานในบริษัทญี่ปุ่น

การที่เค้าจะมาถามเรา เป็นสิทธิที่เค้าจะทำได้ ถ้าไม่ใช่เรื่องอะไรที่ผิดวิสัยจริงๆ เราไม่ควรจะอารมณ์ใส่เค้ากลับ

การที่เราอารมณ์กลับ โดยไม่มีเหตุผล มันทำให้ทำงานยาก ทั้งเราและเค้า

ยิ่งถ้าเราเป็นลูกน้องโดยตรง อยู่ใต้การประเมินของเค้าเรายิ่งเสียเปรียบ

 

สำหรับเรื่องการเถียง หรือเรื่องการใช้อารมณ์

ก็มีหลายบริษัทเหมือนกันที่คนไทยกับคนญี่ปุ่นทะเลาะกันบ่อยๆ

หลายครั้งก็อารมณ์เสียใส่กันแค่เรื่องงาน 

และก็กลับมาคุยกันดีปกติได้ 

สถานการณ์แบบนั้นอาจจะดูเหมือนคนไทยมีอำนาจที่จะเถียงกับคนญี่ปุ่นได้

ไม่เสียศักดิ์ศรี ไม่โดนกดขี่

อันนั้นก็ว่ากันไปตามความอาวุโส ของแต่ละบุคคลไป

แต่การไม่เถียง หรือไม่ใช่อารมณ์ สำหรับผมแล้ว 

ถ้าเนื้อความของการถูกถามจี้ เกิดจากงานจริงๆ คนญี่ปุ่นท่านนั้นแกคิดละเอียด แกกลัวความผิดพลาด

ไม่ใช่มีเจตนาจะแกล้งอะไรกัน ผมว่าเราก็ไม่ควรจะโกรธแกหรอก

 

6.ตอบให้ไว้ที่สุด และ อย่าลืมที่จะตอบ 

ในกรณีที่เราขอเค้าไปเช็คก่อน อย่าลืมที่จะกลับมาตอบเค้านะครับ

เพราะเราไม่รู้แน่หรอก ว่าเรื่องไหนเค้าต้องการรู้จริง หรือแค่พูดไปงั้นๆ

เพราะฉะนั้น ทางที่ดี ให้ตอบทุกๆการบ้านที่เค้าฝากมาถามไว้

และให้เช็คให้เร็วที่สุดและตอบเค้าให้ไวที่สุด

นี่เป็นเคล็ดลับในการซ์้อใจคนญี่ปุ่นครับ

เพราะแสดงให้เห็นว่าเราเป็นคนรักษาคำพูด และมีความรับผิดชอบ

 

วันนี้ผมก็นำวิธีการต่างๆเหล่านี้นำมาเสนอ เพื่อจะเป็นแง่มุมในการช่วยให้ทำงานในบริษัทญี่ปุ่นราบรื่นนะครับ

วิธีการเหล่านี้ผมเอามาจากประสบการณ์ตรงของตัวเองทั้งนั้นครับ

ขอให้มีความสุขกับการทำงานในบริษัทญี่ปุ่นครับ

Facebook Comments Box

แชร์บทความนี้
Author: hailamloa
ล่ามภาษาญี่ปุ่นที่ชอบเรื่องธุรกิจ การลงทุน อสังหา บอร์ดเกม เล่นเกม เล่นหมากรุก