งานล่ามอิสระภาษาญี่ปุ่นไม่เหมาะกับใครบ้าง

งานล่ามอิสระภาษาญี่ปุ่นไม่เหมาะกับใครบ้าง

แชร์บทความนี้

จากประสบการณ์ที่ผมเป็นล่ามอิสระญี่ปุ่นมากว่า 15 ปี โดยส่วนตัวค่อนข้างพอใจอยู่กับอาชีพนี้อยู่เหมือนกัน

ผมพบว่าอาชีพนี้ไม่ได้เหมาะกับทุกคนครับ

เหมาะกับใคร ไม่เหมาะกับใครยังไง จะเล่าให้ฟังครับ

 

1.ต้องมีความสามารถในการล่ามภาษาญี่ปุ่นที่ดีในระดับนึง

เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน

ข้อนี้เป็นเรื่องทั่วไปพื้นฐานอยู่แล้วนะครับ

แน่นอนครับ ความสามารถด้านการล่ามญี่ปุ่นคือพื้นฐานเลยครับ สำหรับอาชีพนี้

เพราะหากเราไม่สามารถแปลงานให้กับผู้ว่าจ้างได้อย่างที่เค้าคาดหวัง เค้าก็คงจะไม่จ้างเรา

 

แต่ส่วนตัวผมต้องบอกเลยว่าตอนช่วงแรกที่มาทำ คือ ผมไม่เก่งเลยครับ

ต้องพบกับความลำบากหลายอย่างเลย เพราะเข้ามาสายฟรีแลนซ์เร็วเกินไปโดยที่ความาสามารถยังไม่ค่อยพร้อมเท่าไหร่

แต่ข้อดีของการที่เข้ามาสายนี้เลย ทำให้เราเก่งขึ้นได้ไวครับ เพราะเจอกับความกดดันบ่อย

ลองมาคิดย้อนหลังดู หากไม่ได้เข้ามาลองทำเต็มตัวเลย อาจจะเป็นช้ากว่านี้ก็ได้

ช่วงที่ผมเติบโตได้เร็วขึ้นมาก คือ ช่วงที่ได้แปลจริงอยู่เป็นประจำตอนมาเป็นล่ามอิสระนี่แหล่ะ!!

หากเป็นตอนอายุเยอะแล้วอาจจะไม่กล้ากระโดดเข้าไปเสี่ยงแบบนั้นก็ได้ แต่เพราะตอนนั้นอายุน้อยไม่ได้มีอะไรเสีย

อายุน้อย อีโก้น้อย ยอมรับว่าตัวเองไม่เก่ง ยังอ่อนแออยู่ ยอมรับการสั่งสอนได้ สภาพจิตใจเลยไม่ค่อยบอบช้ำอะไรมาก

เหนื่อยมาก็ฟื้นตัวเร็ว ภาระทางการเงินก็มีไม่มาก

 

ผมมีเล่าช่วงแรกๆของการทำงานไว้ในบทความนี้นะครับ หากสนใจเข้ามาอ่านได้ครับ

งานล่ามญี่ปุ่นลำบากสุดคือช่วงแรกของการทำงาน

 

ความสามารถด้านภาษา ควรจะต้องมีขนาดไหน

งานมีหลายระดับ ทั้งยากและง่าย เงินดีและไม่ดี

มีงานที่เราทำได้ ทำไม่ได้ ทำได้ดี ทำได้ไม่ค่อยดี

หากผลงานเราตอบโจทย์ลูกค้าได้ ไม่โดนไล่ออกระหว่างทางก็ถือว่าใช้ได้แล้ว

ถ้าทำได้ดีมาก ลูกค้าประทับใจ เค้าจะจ้างคุณซ้ำ

 

2.ไม่เหมาะกับคนที่ไม่มีสภาพคล่องทางการเงิน

ถ้าให้พูดง่ายๆ คือ ต้องมีเงินเก็บ ต้องรู้จักการวางแผนทางการเงิน มีหนี้สินที่ต้องจ่ายไม่มาก

หากใครที่มีภาระค่าใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน แนะนำว่าไม่เหมาะอย่างแรงเลยครับ

เพราะมีหลายงานที่ไม่ได้ทำงานแล้วได้เงินสิ้นเดือน บางงานทำแล้วได้เงินอีก 2 เดือนก็มี

บางงานไม่เบี้ยวเงิน จ่ายเงินไม่ครบ จ่ายเงินช้าก็มี

ในบางครั้งเราอาจจะไม่ได้มีงานล่ามเข้ามาตลอด มีจังหวะขาดช่วง เงินไม่ได้เข้ามามั่นคงไม่ต่างกับฟรีแลนซ์สายอื่นๆ

 

เงินเก็บสำรองเผื่อฉุกเฉินควรจะมีอย่างน้อย 4 เดือนขึ้นไป

ที่ผมแนะนำ 4 เดือน คือ ปกติตลอด 10กว่าปีที่ผ่านมา ช่วงเวลาที่ว่างงานเป็นเวลานานๆจะประมาณ 1-2 เดือน

งานบางงานอาจจะจ่ายเงินช้าอีก 1 เดือน

ผมคิดว่าควรมีเงินสำรองอย่างน้อย 4 เดือน  หรือยิ่งมากกว่านั้นได้ก็ยิ่งดี

แน่นอนว่าเวลาเปลี่ยนสถานการณ์เปลี่ยนตัวเลขอาจจะเปลี่ยน

นี่ยังไม่นับภาวะไม่ปกติอย่างโควิดนะครับ ของผมว่างงานเป็น 10 เดือนเลยตอนโควิด

 

หากจะให้ดีแนะนำว่าควรมีอาชีพเสริม รายได้ทางอื่นไว้ด้วย

เพราะข้อดีของการที่มีเวลาว่างจากตอนที่ไม่มีงาน คือ คุณมีเวลา

 

มีไลฟ์สไตร์ที่เหมาะสม หากมีค่าใช้จ่ายเยอะอยู่เสมอ อาชีพนี้จะเป็นความเสี่ยงต่อคุณ

 

3.ไม่เหมาะกับคนที่ไม่ชอบเดินทาง และย้ายที่อยู่

งานส่วนใหญ่ที่มีเยอะของล่ามญี่ปุ่น  มักจะเป็นล่ามตามโรงงาน

ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่จะอยู่ที่ต่างจังหวัด และมักจะเดินทางไปกลับจากบ้านไม่ได้

จำเป็นที่จะต้องหาที่พักแถวโรงงาน

และยิ่งเป็นล่ามฟรีแลนซ์ ในปีๆนึง อาจจะต้องทำงานหลายที่มากๆ จึงต้องมีการย้ายที่พักเพื่อไปทำงานอยู่บ่อยมากๆ

บางงานมีระยะเวลาทำงานสั้นมาก จนไม่สามารถเช่าหอพักรายเดือนได้ เพราะอยู่ไม่ถึงตามระยะเวลาสัญญาของหอ

ต้องหาโรงแรม หรือหอพักรายวันเอา ก็บ่อย

หากคุณเป็นคนติดบ้าน ไม่ชอบเดินทาง ไม่ชอบเก็บสัมภาระ ย้ายที่อยู่บ่อยๆ

คุณอาจจะรู้สึกลำบากกับเรื่องนี้

 

รายจ่ายแฝงที่เกิดจากการเดินทางและย้ายที่อยู่บ่อยๆ คือ ค่าใช้จ่ายจิปาถะที่เกิดขึ้น

เช่น ค่าน้ำมัน ค่าเช่าที่พัก ค่าโสหุ้ยตอนเข้า ตอนออกจากที่พัก ค่าทำความสะอาด เครื่องอาบน้ำ แปรงฟัน พรมเช็ดเท้า ตะกร้าใส่ผ้า ถังขยะ รองเท้าแตะ ไม้กวาดที่โกย

พวกของใช้เล็กๆน้อยๆ ที่จะต้องซื้อตอนที่ไปอยู่ในต่างที่  ซึ่งต้องจ่ายซ้ำเพราะของที่บ้านเราเอามาหมดไม่ได้อยู่แล้ว

ใครที่งานประจำนานๆ ก็จะไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเหล่านี้

ค่าเดินทาง ค่าที่พัก จะเสียทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนที่ทำงานเลยทีเดียว

แต่สำหรับผม ผมชอบเดินทาง และชอบไปพักในที่ต่างๆอยู่แล้ว เลยถือว่าเป็นการไปเที่ยวไปในตัว เลยค่อนข้างสนุกอยู่

 

แนะนำว่าควรมีรถยนต์ จะช่วยได้มาก

แต่ล่ามที่ไม่มีรถผมก็เห็นหลายท่าน ก็สามารถทำอาชีพนี้ได้อยู่ แต่ก็อาจจะลำบากหน่อยในตอนที่เดินทางไปทำงาน

เพราะหลายนิคมในต่างจังหวัด ไม่มีรถประจำทาง การขนส่งไม่ได้ดีเหมือนในกรุงเทพ

รถที่มักใช้บ่อยคือ วินมอเตอร์ไซต์ และรถตู้สำหรับเดินทางข้ามจังหวัด

ถึงบริษัทจะมีรถรับส่ง แต่ก็ต้องขึ้นเป็นเวลา หากทำโอทีนอกเวลารถมารับ จะกลับลำบาก

ตอนที่ต้องย้ายข้าวของมาอยู่ที่อพาร์ทเม้นใกล้โรงงานต่างจังหวัดอีกเหมือนกัน ค่อนข้างลำบากเลยหากไม่มีรถส่วนตัวขนของมา

มีรถส่วนตัวจึงเป็นปัจจัยที่ค่อนข้างสำคัญมาก หากจะได้งานล่ามในต่างจังหวัด

 

ล่ามอิสระภาษาญี่ปุ่น งานแปล

4.ไม่เหมาะกับคนที่ต้องการสังคมในที่ทำงาน

หากเป็นล่ามอิสระ ในหลายๆครั้ง เราอาจจะได้ทำงานเปลี่ยนที่หลายคร้้งมากๆ

บางที่เราอาจจะทำงานได้แค่วันเดียวก็จบงานแล้ว บางงานอาจจะ 7 วัน หรือ 1 เดือน หรือเป็นปี

แต่ไม่ว่าจะเวลาขนาดไหนล่ามอิสระมีเวลาในการทำงานในที่แห่งนั้นจำกัด

พอจะเริ่มสนิทกับใคร กว่าจะเริ่มปรับตัวกับสังคมได้ ก็อาจจะต้องย้ายบริษัท ไปอยู่ที่ใหม่ ต้องหาเพื่อนใหม่อีกแล้ว

หากคุณเป็นคนที่ต้องการเพื่อนในที่ทำงาน อยู่คนเดียวไม่ได้ หรือสนิทกับใครยาก

คุณอาจจะรู้สึกเหงาพอควรเลย

คุณลองคิดดูสิ ในสังคมที่บริษัทเค้าอยู่กันมาประมาณนึงแล้ว มีคุณเข้าไปใหม่ แล้วมีกำหนดการทำงานแค่ 7 วัน

การที่จะมีคนมาคบหาคุณ ชวนคุณเข้าแก๊ง เป็นเพื่อนคุณนั้นจะมีน้อย เพราะรู้อยู่แล้วว่าเดี๋ยวคุณมาแล้วเดี๋ยวก็ไป ไม่จำเป็นต้องสนิทกันมากก็ได้

ไม่ได้ทำงานกันนานอยู่แล้ว และช่วงเวลาที่จะผูกพันกันก็น้อย

 

แต่โอกาสก็ไม่ได้เป็นศูนย์นะครับ จากประสบการณ์ของผม เคยมีบางที่ทำงานที่ผมไปทำงานไม่กี่วัน แล้วหลังจากนั้นผ่านมาหลายปี ได้กลับไปทำใหม่

เค้าก็ยังคงจำเราได้ และให้มิตรภาพกับเราอยู่เหมือนกัน

มิตรภาพอาจจะเกิดขึ้นได้ แม้ว่าเวลาที่ได้รู้จักกันอาจจะไม่นาน

 

เรื่องของการเข้าสังคมได้ดีหรือไม่ บางทีก็ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป

 

ในทางกลับกันสำหรับใครที่ไม่ต้องการผูกพันกับสังคมในที่ทำงาน

ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในบริษัท ไม่ต้องการมีศัตรู หรือต้องเจอกับคนที่คุณไม่ชอบเป็นเวลานานๆ  คุณอาจจะรักอาชีพนี้เลย

 

5.เหมาะกับคนที่ต้องการเวลาในการทำเรื่องอื่น

ทำธุรกิจ   ทำตามความฝัน ต้องการเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ

หากคุณมีความฝันที่จะทำสิ่งต่างๆ อย่างอื่นมากกว่าการหาเงินจากงานประจำ

อาชีพอิสระนี้อาจจะเหมาะกับคุณ

เพราะมีงานเข้าไม่แน่นอน แต่พอเข้ามาทีก็พอที่จะมีเงินเก็บใช้ชีวิตได้ประมาณนึง

อารมณ์เหมือนชาวนา มีฤดูเก็บเกี่ยว กับช่วงว่างงาน

ต่อให้คนที่ป๊อปมากแค่ไหน มีงานเข้ามาตลอด แน่นอนว่าปฏิเสธไม่ได้ว่า อาชีพนี้ยังไงก็ต้องมีช่วงที่งานไม่ได้เข้า หรือเลือกที่จะไม่รับงานเองก็ได้

 

คนที่ต้องการจองตั๋วเครื่องบินราคาถูกในช่วงโลซีซั่น บินวันธรรมดา ก็จะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้ง่าย

หรือไปเที่ยวในประเทศในช่วงที่คนไม่เยอะ รถไม่ติด อาชีพล่ามอิสระก็มีโอกาสให้คุณทำแบบนั้นได้

 

งานประจำมีเงินเข้ามาแน่นอนตลอด แต่ต้องเหนื่อยกับการทำงานตลอด

แต่ล่ามอิสระ เมื่อคุณเหนื่อยคุณพักได้ (แม้ว่ารายได้อาจจะหาย)  และคุณเลือกที่จะกลับไปทำงานเมื่อคุณพร้อมได้

 

6.เหมาะกับคนที่ไม่ต้องการตำแหน่ง ความก้าวหน้า หัวโขนในบริษัท

อาชีพล่ามอิสระไม่ว่าคุณจะเก่งแค่ไหนให้ทำมานานแค่ไหน หากไม่ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ คุณก็ไม่มีตำแหน่งอะไรในองค์กร

คุณก็ยังเป็นแค่มืออาชีพ มีหน้าที่ในการให้บริการให้กับองค์กร แลกกับค่าตอบแทนไป

ในตอนที่คุณอายุไม่มาก คุณอาจจะมีรายได้ที่เยอะกว่าเพื่อนร่วมรุ่นค่อนข้างมาก

แต่พออายุมากขึ้น เพื่อนๆคุณเริ่มมีตำแหน่ง และตามมาด้วยรายได้ที่ไม่ได้แพ้คุณที่เป็นล่ามภาษาญี่ปุ่นเลย

เพื่อนๆของคุณยังคงเติบโตรายได้เพิ่มมากขึ้นต่อไปอีก

ในขณะที่คุณแม้ว่าจะมีสกิลที่เก่งมากขึ้นกว่าเดิม

แต่ยังรายได้เท่ากับเมื่อก่อน หรือลดน้อยลงกว่าเดิม จากสภาพตลาดงานล่ามภาษาญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไป

และความไม่แน่นอนของงานที่เข้ามา

คุณรับกับเรื่องนี้ได้หรือไม่ ?  ถ้าคำตอบคือได้ คุณทำงานนี้ได้

 

7.ไม่เหมาะกับผู้ที่ไม่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา

เพื่อที่จะสามารถฟังแล้วเราเข้าใจความนัยเชิงลึกมากกว่าความหมายของคำ

งานล่ามเป็นงานที่ต้องเรียนรู้อยู่ตลอด

จำเป็นต้องมีมายเซ็ทในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ

เพราะงานล่ามไม่ใช่แค่เรื่องของภาษาอย่างเดียว

การที่เราจะแปลเรื่องต่างๆได้จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจในงาน ความรู้ในเรื่องราว ความรู้ด้านต่างๆ

ลองคิดดูนะครับ หากคุณแปลเป็นคำๆ ตามตัวอักษร ก็จะคล้ายๆกับที่กูเกิ้ลแปล

พอไม่เข้าใจบริบท ความสัมพันธ์ของเรื่องราว ความหมายที่ต้องการสื่อก็อาจจะเพี้ยนได้

และภาษาเป็นสิ่งที่ดิ้นได้ คำๆเดียวกัน ประโยคเดียวกัน บางทีไม่ได้สื่อความหมายเพียงอย่างเดียว

 

ถ้าเป็นล่ามประจำทำมานาน ไม่ค่อยได้เปลี่ยนที่ทำงาน

คุณอาจจะไม่ต้องปรับตัวอะไรเยอะ งานของคุณอยู่ตัวแล้ว รู้เนื้อหาแทบจะทุกอย่าง รู้จักทุกคนในบริษัท ศัพท์เฉพาะต่างๆ

อาจจะไม่จำเป็นต้องเร่งรีบเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

แต่ถ้าเมื่อไหร่คุณต้องเปลี่ยนที่ทำงานอยู่เสมอ

และส่วนใหญ่แต่ละหน้างานรายละเอียดจะไม่เหมือนกัน ศัพท์เฉพาะก็แตกต่างกัน นิสัยของคนแต่ละที่ก็ต่างกัน

หากคุณไม่พัฒนาความรู้ ไม่ชอบเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อาจจะลำบากหน่อยในการที่จะทำงานในอาชีพนี้

 

8.ไม่เหมาะกับคนที่ไม่ชอบเจอคนเยอะ

คำว่าเจอคนเยอะสำหรับผมหมายถึงทั้ง ในที่ประชุมนึง หรือที่ทำงานนึง คุณต้องทำงานกับคนจำนวนมาก 

และอีกในความหมายนึง คือ คุณมีโอกาสได้เจอผู้คนมากหน้าหลายตา จากหลายหน้างาน 

คือในปีๆนึง คุณอาจจะรู้จักคนใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก คุณจะได้พบเจอพูดคุยกับคนหลายๆแบบมากๆ

ฟังดูอาจจะสนุกสำหรับคนที่ชอบสังคม และอาจจะเป็นทุกข์สำหรับบางคน

 

TIP ผู้คนที่คุณพบเจออาจจะให้งานคุณ

คนต่างๆที่คุณเจออาจจะทำให้คุณได้งานที่อื่นต่อด้วยก็ได้นะครับ

ผมเคยได้งานจากคนที่เคยเจอกันแค่ครั้ง 2 ครั้งมาหลายครั้งแล้วเหมือนกันนะครับ

ผู้คนต่างๆก็เหมือนกับคอนเน็คชั่นของคุณ

 

9.มีการแข่งขันกันในอาชีพนี้

อาจจะไม่ได้รุนแรงเหมือนอาชีพอื่น 

แต่เมื่อในโรงงานที่มีการจ้างล่ามอิสระมามากกว่า 1 คนขึ้นไป

มักจะเกิดการเปรียบเทียบกัน

เมื่องบการจ้างลดลง หรือโควต้าในการจ้างมีจำกัด ผู้ว่าจ้างก็จะคัดเลือกล่ามที่เหมาะกับเค้าที่สุด

บางครั้งในที่ทำงานเดียวกัน อาชีพเดียวกัน อาจจะไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพราะแข่งกันเพื่อผลประโยชน์ก็มี

แต่ถ้าเทียบกับการแข่งขันในอาชีพอื่น อาจจะไม่ถือว่าเยอะเท่าไหร่ เพราะล่ามยังหางานทำกันได้อยู่

ส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยเห็นใครว่างงานนานๆนะครับ ถ้าจะว่างเพราะเจ้าตัวไม่รับงานเองมากกว่า

 

10.ไม่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการสวัสดิการ

จากที่ผมทำงานนี้มาสวัสดิการที่ดีที่สุดที่เคยได้ ดูเหมือนจะเป็นประกันสังคม 

ซึ่งไ่ม่ได้จะได้จากทุกบริษัทด้วย มีแค่บางบริษัทเท่านั้นเอง

สวัสดิการของอาชีพอิสระต้องสร้างขึ้นเอง ด้วยการนำเงินไปลงทุนต่อ หรือซื้อประกันต่างๆ 

 

ทั้งหมดนี้ คือ มุมมองจากการทำงานล่ามอิสระกว่า 15 ปีของผม 

หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆบ้างนะครับ สวัสดีครับ

 

Facebook Comments Box

แชร์บทความนี้
Author: hailamloa
ล่ามภาษาญี่ปุ่นที่ชอบเรื่องธุรกิจ การลงทุน อสังหา บอร์ดเกม เล่นเกม เล่นหมากรุก