ก่อนหน้านี้ได้ยินแต่กระแสเมืองไทยไม่น่าลงทุนแล้วสำหรับต่างชาติ เพราะค่าแรงแพง ต้นทุนต่างๆในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น
ทำให้ต่างชาติไม่ได้มองเมืองไทยเป็นประเทศค่าแรงต่ำอีกต่อไป
ส่วนใหญ่กระแสที่จะไปลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้านเรา ที่นิยมมากๆก็มี เวียดนามและอินโดนีเซีย
ซึ่งแม้แต่ในปัจจุบันความจริงข้อนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน
EV รถยนต์ไฟฟ้าที่จะเปิดเมกะเทรนด์รอบใหม่นี้ของโลกในรอบนี้ ดูเหมือนว่าต่างชาติอาจจะไม่ได้สนใจมาลงทุนในไทยด้วย
เพราะปัจจัยเรื่องต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นและไม่ได้เป็นประเทศที่มีแร่ลิเธียมซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้ามากเหมือนประเทศอินโดนีเซียด้วย
นอกจากนั้นยังมีเรื่องของธุรกิจญี่ปุ่นเริ่มไม่แข็งแกร่งเหมือนในอดีต โดนเกาหลีและจีนมาตีตลาด
จนในเมืองไทยยังเห็นได้ชัดเลย เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายอย่าง โดนแบรนด์จีน และเกาหลีมาตีเยอะมาก
อย่างผมที่พึ่งซื้อ เครื่องซักผ้าใหม่ ตอนแรกว่าจะซื้อแบรนด์ญี่ปุ่น แต่สุดท้าย เทียบความคุ้มค่าแล้ว ก็เลือกSamsungมาใช้แทนซะงั้น
ทั้งที่ถ้าเป็นเมื่อ 10กว่าปีก่อน แบรนด์เกาหลี กับจีน แม้ว่าอาจจะถูกกว่าก็ไม่คิดที่จะซื้อเลย ยังไงก็ยังคงเลือกแบรนด์ญี่ปุ่น
ในโรงงานที่ผมเป็นล่ามให้ญี่ปุ่นอยู่ตอนนี้ก็เป็นบริษัทที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง เมื่อก่อนมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ขายแพง ลูกค้าก็ยังใช้บริการ
ตอนนี้โดนคู่แข่งตัดราคา มาแย่งลูกค้า ยอดขายดิ่งลงอย่างแรงมาก
แม้ว่าจะโดนตัดราคา แต่บริษัทผมก็ไม่ลดราคาแต่อย่างไร แถมยังขึ้นราคาอีก
คุณภาพที่เคยเป็นจุดขาย ก็ไม่สามารถดึงความเชื่อมั่นจากลูกค้าให้กลับมาใช้ได้ เพราะเทียบราคาต่อคุณภาพแล้ว ราคาก็ถือว่าแพงเกินไป ไม่คุัมค่าต่อการใช้งาน
แต่ในช่วงเร็วๆนี้ที่ผ่านมา ได้ยินข่าวดีหลายอย่างที่น่าจะส่งผลต่อธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทย
ที่อาจจะทำให้อาชีพล่ามญี่ปุ่นได้ไปต่อ อย่างน้อยก็น่าจะอีกสัก 20 ปี
ในระดับเงินเดือนที่อาจจะพออยู่ได้ แม้ว่าอาจจะไม่เฟื่องฟูเท่าแต่ก่อน
ข่าวที่เป็นไฮไลค์เลย ที่เปลี่ยนเกมเลย คือ
ข่าว BYD ที่เป็นค่ารถยนต์ไฟฟ้าอันดับ1 ของโลกของประเทศจีน มาลงทุนเกือบ 1.8หมื่นล้านบาท
ซื้อที่ดินที่ระยอง600ไร่ เปิดโรงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเมืองไทยเพื่อเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าสู่อาเซียนและยุโรป
ทำไมBYD เลือกไทยเป็นฐานการผลิต?
ผู้จัดการฝ่ายขายของ BYD นาย หลิว เสวียเลี่ยง กล่าวว่า เค้าทดลองทำตลาดรถยนต์และรถบัสไฟฟ้าในไทยแล้วได้ผลตอบรับดีมาก
และไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ในอาเซียนมาอย่างยาวนาน มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีนโยบายที่สนับสนุนEV ที่ดีที่สุดลองจากสิงคโปร์
ที่มาของข่าว
https://www.tap-magazine.net/blog-th/cs75-2
ถ้ามีเจ้าใหญ่รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามา พวกซัพพลายเออร์และตลาดต่างๆที่เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าก็น่าจะเข้ามา
นอกจากนี้ก็มีข่าวความเคลื่อนไหวของบริษัทญี่ปุ่นที่เริ่มแอคชั่นเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นมาเหมือนกัน
เช่น
-ฮิตาชิ จับมือกับฮอนด้า ทำรถยนต์ไฟฟ้า
-โตโยต้าตัดสินใจทำรถยนต์ไฟฟ้า โดยจะร่วมมือกับBYD
-ฮิตาชิ จับมือ 3 ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เครือฮอนด้า ตั้งบริษัทใหม่เพื่อผลิตชิ้นส่วนรถยนต์EV
บริษัทที่จับมือด้วยนั้นก็ไม่ธรรมดานะครับ รายใหญ่ๆมีชื่อทั้งนั้นเลย
คือเคฮิน และโชวะ และ นิชชิน โคเกียว
ผมคิดว่าถ้าบริษัทญี่ปุ่นเริ่มเคลื่อนไหว ในธุรกิจใหม่ อย่างน้อยๆก็น่าจะมีงานให้ล่ามญี่ปุ่นอยู่อีก
เมื่อเร็วๆนี้ เพื่อนผมคนนึงก็ไปรับงานเกี่ยวกับแบตเตอรี่EV
ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเก็บพลังงานใหม่ของโลกไม่เคยทำที่ไหนมก่อนของฮิตาชิ
ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับธุรกิจEVนี้ด้วยก็ได้
โดยรวมสถานการณ์อาจจะยังไม่ชัดเจน ว่าจะดีหรือแย่ลง แต่อย่างน้อยๆก็เห็นแสงอะไรขึ้นมาบ้าง ให้พอได้ลุ้นอีกครั้งกับอาชีพล่ามญี่ปุ่น
อนาคตอาจจะรายได้ไ่ม่เท่าเก่า แต่ด้วยความยากของภาษาญี่ปุ่นผมเชื่อว่าก็ยังคงน่าจะได้รายได้ประมาณนึง ที่พอเลีี้ยงชีพได้อยู่ครับ
แต่ผมหวังว่าอย่างน้อยๆ อาชีพล่ามภาษาญี่ปุ่นยังคงไปต่อได้อีกสักอย่างน้อย 20 ปี