12ข้อเสียของงานล่ามญี่ปุ่นฟรีแลนซ์

12ข้อเสียของงานล่ามญี่ปุ่นฟรีแลนซ์

แชร์บทความนี้

ผมน่าจะยังไม่เคยเขียนเรื่องข้อดีของงานล่ามภาษาญี่ปุ่นเลย

แต่น่าจะเคยพูดข้อดีแทรกๆไว้ในหัวข้ออื่นๆที่ผ่านมาบ้าง

ขอข้ามมาเขียนข้อเสียก่อนเลยแล้วกัน อิอิ

 

ผมทำงานล่ามอิสระตรงนี้มาน่าจะ 10 ปีอัพได้แล้วครับ

คำถามที่คนถามผมบ่อยๆ คือ อาชีพนี้ทำแล้วดีมั้ย?

หรือมีล่ามประจำที่ต้องการจะออกมาทำฟรีแลนซ์ก็ถามบ่อยๆ

วันนี้ผมจะมาแชร์ข้อเสียให้ฟังแล้วกันนะครับ ว่าอาชีพนี้มีความเสี่ยงอะไรบ้าง

 

ผมรวบรวมได้ 12 ข้อดังนี้ครับ

1.รายได้ที่ไม่มั่นคง ต้องหางานอยู่ตลอด

เรื่องนี้ก็เหมือนกับอาชีพฟรีแลนซ์อื่นทั่วไปครับ ถ้างานไม่เข้า ก็ไม่มีรายได้ครับ

จำเป็นต้องหางานให้ได้เพื่อที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน

แน่นอนล่ะว่า ถ้าไม่ได้เป็นคนมีค่าใช้จ่ายอะไรเยอะ งานล่ามฟรีแลนซ์ทำแค่ไม่ถึง 10 วันก็น่าจะพอค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนแล้ว อันนี้คือ งานล่ามรายวันนะครับ

ล่ามรายวันถึงอาจจะงานมาไม่ตลอด แต่ด้วยความที่จำนวนเงินค่อนข้างเยอะ ก็ช่วยให้ชดเชยในส่วนวันที่ไม่ได้งานไปได้

 

มีล่ามที่ได้งานตลอดนะครับ และก็มีล่ามที่ไม่ได้งานตลอด

เทคนิคการได้งานตลอดอย่างง่ายๆ คือ รับงานเป็นสัญญาจ้างระยะยาวครับ

อาจจะได้เงินลดลงกว่ารายวัน แต่ด้วยความที่บางแห่งเค้าจ้างแบบระยะยาวมากๆ เหมือนพนักงานคนนึงเลยก็มี

บางที่อาจจะจ้างเรทรายวันในการจ้างเหมือนพนักงานประจำเลยครับ 

ผมเคยเห็นมาหลายที่แล้ว จ้างกันเกินหลัก 5 ปีกันเลยทีเดียวครับ จนกว่าล่ามจะเบื่อออกไปเองครับ (555 อุตส่าออกงานประจำมามาทำงานอย่างอิสระ แต่ก็ได้ทำเป็นงานประจำไปซะอย่างงั้น แต่รายได้ก็จะมั่นคงมาก)

การรู้จักเอเจนซี่ ไปสมัครไว้หลายๆเจ้าก็ช่วยได้ครับ

2.เดินทางบ่อย ย้ายที่พักบ่อย

งานล่ามก็มีหลายสายนะครับ ในความคิดเห็นส่วนตัว คิดว่างานที่ค่อนข้างเยอะ จะเป็นสายโรงงาน

งานล่ามในโรงงาน งานส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องไปทำอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในต่างจังหวัดอยู่บ่อยๆ

เลยทำให้เกิดการย้ายที่อยู่บ่อย

แต่สำหรับบางคนอาจจะเลือกจับแต่งานในพื้นที่นั้นๆเลยก็ได้นะครับ

ในหลายๆจังหวัดมีงานเข้าตลอดอยู่แล้ว สามารถรับงานได้ยาวๆเลย โดยที่ไม่ต้องย้ายบ้านบ่อย

 

ความถี่ของการย้ายที่อยู่ ก็จะขึ้นอยู่กับงานเลย ว่าเราได้งานที่สัญญายาว หรือจ้างเป็นระยะสั้น

ถ้าจ้างระยะสั้นบ่อยๆ เราก็ต้องเตรียมของเท่าที่จำเป็น มาพักในระแวกนั้น

ถ้าจบงานใน 1  สัปดาห์ หรือในไม่กี่วัน ก็เก็บของกลับบ้าน

ถ้าไม่จบ บางครั้งเสาร์อาทิตย์ เราก็ต้องขับข้ามจังหวัดกลับมาบ้านและกลับไปทำงานใหม่ในวันธรรมดา

ล่ามหลายคนก็จะเดินทางกันบ่อยครับ

บางคนไม่ได้มีบ้านที่กทม. ก็ขับข้ามหลายจังหวัดเลยทีเดียวในแต่ละสัปดาห์

 

3.ค่าใช้จ่ายแฝงต่างๆที่เกิดจากการหางาน

เมื่อมีการเดินทาง มีการย้ายที่พัก ก็เกิดค่าใช้จ่ายขึ้นมาครับ

อย่างเวลาถ้าเช่าหอในระยะยาว ก็จะมีค่าทำความสะอาด หรือบางทีอยู่ไม่ครบสัญญาก็โดนยึดเงินมัดจำ

หรือโดนหักมัดจำจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับห้องที่เช่า

บางคนปกติก็ต้องผ่อนคอนโด ผ่อนบ้านอยู่แล้วได้งานไกลบ้าน ก็ต้องไปเช่าห้องเพิ่ม มีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก

รถยนต์ต้องใช้เดินทางบ่อยเข้า ก็เสื่อมสภาพเร็วขึ้น ซ่อมบ่อยขึ้น เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนยางเร็วขึ้น 

เสื้อผ้า ชุดทำงาน ที่อาจจะต้องซื้อใหม่เพื่อให้เข้ากับงานที่ได้ (ถ้าได้ที่ที่มียูนิฟอร์มให้ก็ประหยัดไปเยอะ)

รองเท้าเซฟตี้ แว่นตาเซฟตี้ หมวกเซฟตี้ บางที่เค้าไม่ได้จัดหาให้ เราต้องเตรียมไปเอง

ยิ่งในยุคโควิดนี้ อาจจะมีค่าตรวจ ATK หรือ RT-PCR ที่อาจจะต้องตรวจเองก่อนเริ่มงาน

 

เวลาเรารับงาน เราจะตีราคาไปเลยว่าเราคิดเท่าไหร่

บางงานลูกค้าก็ออกค่าเดินทาง ค่าที่พักให้

บางงานก็ให้เราตีราคาเหมาไปแล้วเราไปจ่ายของเราเอง

 

(หัวข้อย่อยด้านล่างอาจจะน้ำเยอะหน่อย อ่านข้ามไปข้อ4 เลยก็ได้นะครับ  555)

ในกรณีที่เราให้ลูกค้าจ่ายค่าที่พักให้ จะมีความเสี่ยงอย่างนี้ครับ

คือที่พักที่ลูกค้าเลือกอาจจะไม่ถูกใจเรา

ผมเคยได้พักในหอพนักงานของบริษัทครับ

ถามว่าอยู่แล้วลำบากมากมั้ย ก็ไม่มากเท่าไหร่ แต่ไม่สบายครับ

สภาพแวดล้อมของตึก สภาพห้อง อารมณ์เหมือนหอพักนักศึกษาที่เป็นหอในอ่ะครับ 

ยังดีไม่โดนให้ต้องแชร์ห้องอยู่กับคนอื่น เพราะห้องอื่นเค้าแชร์กันห้องนึงอยู่ 2 คน

ระยะทางจากตึกมาที่จอดรถ เดินประมาณ 300 เมตรอ่ะครับ เพราะต้องจอดรถที่รั้วด้านนอกของพื้นที่

และต้องเดินจากทางเข้าผ่านสนามบาส ผ่านพื้นที่ส่วนกลาง จนมาถึงด้านหลังจะเป็นเขตที่พื้นที่หอพักพนักงาน

ห้ามไม่ให้เอารถมาจอดหน้าหอพักน่ะครับ 

คือลูกค้ามาขอต่อราคาไงครับ ถ้ามีที่พักให้จะลดราคาได้เท่าไหร่

ลูกค้าได้ประหยัด ลดต้นทุนไป

ส่วนเราได้พักห้องที่ถ้าตีราคาต่อวันน่าจะไม่ถึงวันละ 100 บาท

ได้พักหอนี้ไปสองเดือน จนจบจ็อบครับ

นานๆทีก็จะเจอเคสแบบนี้นะครับ ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงของการที่ให้ลูกค้าจัดที่พักให้

สำหรับผมแล้วผมไม่แนะนำให้พักในที่อยู่ที่ลูกค้าจัดให้ครับ ถ้าจะพักต้องถามให้เคลียร์ก่อนว่าได้ที่พักแบบไหน

เพราะถ้าเราพักผ่อนไม่สบาย จะมีผลต่องานเยอะมากครับ 

 

ในกรณีที่เราไปจ่ายของเราเองก็มีข้อเสียครับ

คือเราต้องออกเงินเราเองไปก่อน พอหลังจากทำงานเสร็จถึงรอบจ่ายเงินค่อยได้เงิน

จำเป็นต้องมีสายป่านครับ ถ้าไม่มีเงินเก็บเลย อาจจะมีปัญหาในการหมุนเงิน

 

4.เวลาที่เสียไปกับการสัมภาษณ์งาน

แน่นอนว่าล่ามฟรีแลนซ์ งานรายวันอาจจะไม่ต้องสัมภาษณ์ก่อนทำงาน

แต่มีหลายงานเหมือนกันที่ลูกค้าต้องการสัมภาษณ์ อย่างน้อยไม่ต้องมาถึงที่ เปิดกล้องคุยกันก็ยังดี

หรือบางที่ก็ไม่ยอม ต้องให้ไปสัมภาษณ์ถึงที่ พูดคุยกันหน้าต่อหน้า(Face to face)ก็มีหลายงาน

เรียกว่าเวลาหางานไม่ต่างกับหางานประจำเลย 

ในการสัมภาษณ์พวกนี้ ถ้าเป็นงานประจำ เราทำครั้งนึงได้งานแล้วก็หายไปอีกหลายปีใช่มั้ยครับ

แต่งานรายวัน พอได้งานแล้ว จบงาน สมมติว่า 1  เดือนก็ต้องมาโดนเรียกสัมภาษณ์อีก

จำนวนการสัมภาษณ์ค่อนข้างหลายรอบ เสียเวลาค่อนข้างมากเลยทีเดียว

ไหนจะค่าน้ำมัน ไหนจะเสียเวลาเตรียมตัวก่อนสัมภาษณ์ เสื้อผ้าหน้าผม เตรียมเอกสาร เตรียมคำศัพท์

 

5.ต้องเตรียมตัวใหม่ ต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ จำเรื่องใหม่ๆอยู่เสมอ

เรื่องนี้ฟังดูก็เหมือนกับไม่ได้เป็นข้อเสียอะไรนะครับ

หลายๆคนก็ชอบด้วย เพราะไม่จำเจ ไม่ซ้ำซาก ไม่เบื่อ

แต่ด้วยความที่เป็นเรื่องใหม่ เราก็จะไม่ช่ำชองในเรื่องนั้นๆ

หรือถึงจะเคยมีพื้นมาบ้าง แต่ก็ต้องมาจูนส่วนเพิ่มเติมต่างๆอยู่ดี

 

ถ้าลองเปรียบเทียบกับล่ามที่เค้าทำที่นั้นมาเป็นเวลาหลายปี 

เค้าทำซ้ำๆ แปลๆซ้ำๆ รู้จักศัพท์เฉพาะ รูัจักชื่อเฉพาะ ชื่อคน ชื่อบริษัท ชื่อลูกค้า ชื่อซัพพลายเออร์ ฟังจนชินแล้ว 

เค้าจะฟังปั๊บแล้ว อ๋อ ทันที

แต่ล่ามใหม่มา จะไม่รู้จักชื่อพวกนี้แน่ๆ

แน่นอนว่าให้เวลาสักพักจะต้องจูนได้อยู่แล้ว

แต่ในช่วงแรกเราจะทำงานได้ไม่ค่อยคล่อง หรืออาจจะถึงขั้นร่วงกลางเวทีเลยก็ได้

คนญี่ปุ่นที่เราเจอ หัวหน้าคนไทยที่เราเจอ อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจตรงจุดนี้ 

ถ้าเจอคนที่ไม่เข้าใจ เราอาจจะโดนเคลม โดนด่าหนักๆตั้งแต่วันแรกๆก็เป็นได้

ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้น ลดความเสี่ยงด้วยการเตรียมตัว

แต่ด้วยความที่เปลี่ยนงานบ่อย ก็ต้องเตรียมตัวอยู่ร่ำไป

ถ้าอยากชิล อยากสบาย ไม่อยากดิ้นรน เรียนรู้อยู่ตลอดเวลาอาจจะไม่เหมาะเท่าไหร่

 

6.เทรนของตลาดที่เป็นขาลง

ด้วยเทคโนโลยีต่างๆที่ช่วยให้สื่อสารกันได้แม้จะไม่ต้องรู้ภาษาญี่ปุ่น

ทิศทางทางการลงทุนของคนญี่ปุ่นในบ้านเราที่ลดลง (ประเทศญี่ปุ่นเองก็เป็นขาลง)

การเรียนภาษาญี่ปุ่นที่ง่ายขึ้นทำให้มีคนใช้ภาษาญี่ปุ่นเกิดขึั้นมากขึ้น

การปรับตัวขององค์กรญี่ปุ่นที่สนับสนุนให้ใช้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้น

จำนวนเอเจนซี่ที่ตัดราคากัน แล้วได้งานที่เรทไม่สูง นำมาจ่ายให้ล่าม

ยิ่งเอเจนซี่ใหม่เกิดขึ้นมา ก็ยิ่งมีเอเจนซี่ที่ยอมลดราคาเพื่อให้ได้งานเพิ่มมากขึ้น

ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ทำให้งานล่ามภาษาญี่ปุ่นเริ่มอยู่ในช่วงขาลงเรื่อยๆ

สังเกตได้จากราคาค่าล่ามเฉลี่ยต่อวัน ลดลงเรื่อยๆ และจำนวนงานก็หายากขึ้นเรื่อยๆ

ขนาดที่ว่าล่ามเก่งๆ ยังบ่นว่างานล่ามหายากขึ้น (คุยกันก่อนที่โควิดจะมา)

อาจจะเรียกว่างานล่ามญี่ปุ่นเป็นอุตสาหกรรมตกดินแล้วหรือเปล่าเนี่ย !?

มีล่ามบางท่านบอกว่ายุคทองของล่าม ที่บริษัทต่างๆต้องดึงตัวกันเพื่อหาล่ามมาทำงาน ต้องให้เงินเดือนที่เยอะ

เอเจนซี่ที่ได้ค่าแนะนำแพงๆ ได้จบไปแล้ว

 

ทุกวันนี้มีล่ามเยอะเพียงพอที่จะทำงานให้ และแม้จะกดค่าแรงก็ยังหาล่ามมาทำงานได้

 

ถ้าเปรียบกับล่ามประจำในบริษัทเค้ามีเงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกเดือน ทำงานดีมีผลงานได้ตำแหน่ง ได้เป็นผู้จัดการทำงานอื่น

แต่ล่ามฟรีแลนซ์ไม่ว่าจะกี่ปี ผ่านไป เรทค่าแรงล่ามไม่เพิ่มขึ้น แถมยังจะตกลงมาอีก

สำหรับแนวทางที่จะทำให้เรทค่าตัวเพิ่มขึ้นต้องเพิ่มมูลค่าให้ตัวเองอย่างมากๆ ทำงานที่ยากขึ้นๆ ที่คนทำได้น้อยเท่านั้น

 

7.ต้องเปลี่ยนสังคมอยู่ตลอดเวลา

ข้อนี้บางคนอาจจะถือว่าเป็นข้อดี

บางคนอาจจะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

กว่าจะได้เพื่อนร่วมงานดีๆ

กว่าจะสนิทกันได้ บางคนอาจจะไม่ชอบการปรับตัว

ต้องเจอคนมากหน้าหลายตา หลายรูปแบบ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ  รับมือกับคนหลายๆแบบ

 

8.ไม่มีสวัสดิการอะไรเลย

งานทุกงานของการเป็นฟรีแลนซ์ คุณจะได้รับเพียงแค่ค่าจ้างและโอทีเท่านั้น(หรือบางงานก็อาจจะไม่มีโอที ^^)

บางที่ คุณอาจจะโชคดีหน่อย เค้าให้โบนัส หรือให้อะไรเพิ่มเติม

แต่ไม่สามารถได้สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล เงินค่าเล่าเรียนลูก เงินช่วยงานศพ เบี้ยขยัน เงินบำนาญ ผลตอบแทนกองทุนสะสมสำรองเลี้ยงชีพ

ทุกๆอย่างที่เป็นสวัสดิการ คุณได้มาเป็นเงินก้อนในค่าจ้างไปแล้ว

สวัสดิการสำหรับล่ามฟรีแลนซ์ต้องสร้างขึ้นเองครับ

ใช้ค่าตอบแทนที่ได้รับมาลงทุนต่อยอดเองครับ

ไม่มีค่ารักษาพยาบาล ก็จ่ายเป็นประกันสุขภาพไปครับ ได้ลดภาษีด้วย

เงินลงทุนกองทุนก็ต้องหาแหล่งลงทุนเองครับ กองทุน หรือว่าหุ้น หรือธุรกิจ หรือคลิปโตก็ว่ากันไป

9.ต้องส่งภาษีเองทุกปี

หลายๆท่านที่ทำงานประจำจะไม่ต้องสนใจเรื่องนี้เลยก็ได้นะครับ

เพราะมีฝ่ายบัญชีทำให้ เราแค่เซ็นอย่างเดียว

แต่พอมาเป็นฟรีแลนซ์แล้วต้องดูแลเองทุกอย่าง 

บางครั้งยื่นขาด โดนสรรพากรเรียกไปก็เคยครับ 

ผมเคยโดนแล้วครับ ตัวสั่นเลยครับ ไม่รู้เพราะกลัวหรือแอร์เย็น

แต่ข้อนี้ก็อาจจะไม่ไช่ข้อเสียนะครับ 

ผมเองก็ชอบทำเองซะด้วย วางแผนภาษีได้เองเลย

ตอนอยู่บริษัทก็บอกฝ่ายบัญชีเลยไม่ต้องยื่นให้ผม อยากยื่นเองน่ะครับ ได้เรียนรู้

10.งานที่ต้องสร้างคอนเน็คชั่น

พอทำงานไปนานๆเข้า เราก็จะได้รู้จักคนมากขึ้นทั้งล่ามด้วยกัน ทั้งคนจากบริษัทที่เราไปทำงานด้วย หรือลูกค้าคนญี่ปุ่น

แปลกมาก คือผมไม่ได้มีคนสนิทอะไรกับใครมากมาย

แต่งานหลายงานก็ได้มาจากคอนเน็คชั่นนี่แหล่ะครับ

เหมือนเค้ารู้ว่าเราเป็นล่าม เค้าก็จัดงานมาให้

และงานพวกนี้ส่วนใหญ่ ราคาจะไม่โดนกด เพราะไม่ได้ผ่านเอเจนซี่ ไม่ต้องดั้มราคาแข่งกับใคร

งานที่มีคนแนะนำให้ส่วนใหญ่เงินจะดี และได้งานไม่ยาก เหมือนคนในคุยกัน เคลียร์กันง่าย

รักษามิตรภาพกับคนอื่นเยอะๆเข้าไว้ครับ โอกาสจะผ่านมาทางเครือข่ายเหล่านี้ครับ

 

11.ไม่รู้ว่าจะเจองานอะไรที่หน้างาน เจอคนแบบไหน

ข้อนี้อาจจะคล้ายๆกับข้อที่เคยกล่าวมาแล้วนะครับ

ด้วยความแต่ละงานมีช่วงเวลาที่สั้น ต้องเปลี่ยนงานบ่อยๆ ต้องเจอคนหลายๆแบบ

พอหน้างานเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน ความแม่นยำของเราก็อาจจะตกลงได้ครับ

เราต้องเจอกับสิ่งใหม่ๆ ความท้าทายใหม่ๆ ที่เราจะยังไม่รู้ถ้าไม่ได้เห็นหน้างาน

ผมทำมากว่า 10 ปีแล้วก็ยังตื่นเต้นทุกครั้งเลยที่ได้เริ่มงานที่ใหม่

ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้เราจะเจออะไร ตื่นเต้นครับ ตื่นเต้น

 

12.ความเสี่ยงเรื่องการเสียโอกาสจากการโดนแคนเซิลงาน

เรื่องนี้ก็คล้ายๆกับงานในวงการอื่นน่ะครับ

คือเมื่อตอนที่เรากำลังจะได้งาน

มีคนมาติดต่อสองที่ในเวลาเดียวกัน

เราตอบรับเจ้านึง ปฏิเสธไปเจ้านึง

ตอนสุดท้ายเราโดนเจ้าที่เราตอบรับมา”เท” (แคนเซิลงาน)

ทำให้เสียงานทั้งสองฝั่ง

และเคลมอะไรกับเจ้าที่เทเราไม่ได้

 

เรื่องนี้ถ้ารับงานผ่านบริษัทเอเจนซี่ ก็มีโอกาสจะได้รับเงินค่าเสียโอกาส ค่าเสียเวลา

แต่ก็ไม่ใช่ทุกบริษัทเอเจนซี่ที่ชดเชยให้

 

มีหลายกระทู้ในพันทิปเลย และในกลุ่มล่ามที่คุยกันเรื่องโดนเท แล้วอยากจะทวงความเป็นธรรม หาวิธีการฟ้องร้อง

 

ผมเองก็เคยโดนเทครับ หลายครั้งด้วยครับ

บางที่ให้ไปทำงานฟรีแล้วไม่ให้อะไรกลับมาเลยก็มี

บางที่เรียกไปสัมภาษณ์หมดเวลาเป็นวัน ให้ไปนั่งรอไม่เรียกซะที 

 

โดยส่วนตัวแน่นอนเราโดนเท เราเสียโอกาส เราเสียหายครับ

แต่คิดว่าไม่ใช่ว่าจะโดนกันบ่อยๆ เป็นส่วนน้อยซะมากกว่า

ผมว่าเอาเวลาไปทวงความเป็นธรรม มาโฟกัสทำอย่างอื่นแล้วมูฟออนต่อไปดีกว่า

ถ้านับความเสียหาย ผมว่ามันไม่ได้มากมายอะไรเท่าไหร่ เสียเวลา เสียโอกาสได้รายได้ในอนาคตมาเท่านั้น

ไม่ได้โดนหลอกลวงอะไรให้ต้องเสียเงินหลักแสน หรือหลักล้าน

จมปลักอยู่กับเรื่องนี้ แล้วเสียเวลา เสียสุขภาพจิตเปล่า 

ปล่อยวาง ลืมๆ มันไป ใจเราน่าจะมีความสุขกว่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรขนาดนั้นที่จะต้องขึ้นโรงขึ้นศาล

วันนี้นึกออกแค่นี้ บทความก็เหมือนจะเวิ่นเว้อและยาวเกินไปหน่อยแล้วครับ

 

แต่ละข้อที่ผมพูดไป อาจจะไม่ได้เป็นข้อเสียสำหรับบางคนก็ได้นะครับ

และทุกๆข้อคุณสามารถป้องกัน หรือบริหารความเสี่ยงได้ด้วยวิธีต่างๆกันนะครับ

 

ขอมีความสุขกับการทำงานครับ

 

#ให้ล่ามเล่า

Facebook Comments Box

แชร์บทความนี้
Author: hailamloa
ล่ามภาษาญี่ปุ่นที่ชอบเรื่องธุรกิจ การลงทุน อสังหา บอร์ดเกม เล่นเกม เล่นหมากรุก