会議 (kai-gi)กับ 打ち合わせ (u-chi-a-wa-se) สองคำนี้ต่างกันยังไง
ตอนสมัยที่ผมเรียนเอกภาษาญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัย
เมื่อพูดคำว่าประชุม ผมจะได้เรียนแค่คำว่า 会議(kai-gi) อ่านออกเสียงภาษาไทยว่า ไค-กิ มีความหมายว่า “ประชุม”
จำไม่ได้เลยว่า ได้เรียนคำว่า 打ち合わせ(u-gi-a-wa-se) หรือเปล่า
แต่รู้ว่ามีคำว่าประชุมอยู่ในหัวคือ ไคกิ(会議) คำเดียว
พอเข้าสู่ช่วงทำงาน คำที่เค้าใช้บ่อยมากในตอนที่จะประชุมกัน เค้าจะใช้คำว่า 打ち合わせ(u-chi-a-wa-se)
อ่านออกเสียงภาษาไทยว่า อุจิอาวาเซะ
ซึ่งคำนี้ก็แปลว่า “ประชุม”ครับ
แต่สองคำนี้มีนัยยะที่แตกต่างกันนะครับ
แม้ว่าจะแปลว่าประชุมเหมือนกัน ความแตกต่างของสองคำนี้มีดังนี้ครับ
ความหมายของคำว่า 会議 kai-gi ไคกิ
เป็นการพูดคุยกันในเรื่องที่สำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริหาร หรือการจัดการโดยกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในงานนั้นๆ
ในการประชุมจะเป็นการถกเถียงกัน ร่วมตัดสินใจ ในประเด็นที่พูดคุย เพื่อให้ได้ข้อสรุป
โดยทั่วไปก็จะมีการจัดทำบันทึกการประชุม
และดำเนินการอย่างเป็นทางการ
ความหมายของคำว่า 打ち合わせ U-chi-a-wa-se อุจิอาวาเซะ
เป็นการพูดคุยปรึกษาหารือกัน แจ้งเรื่องหรือข้อมูลที่จำเป็นและรับฟังความคิดเห็น พูดคุยกันเพื่อให้งานดำเนินไปได้ด้วยดี
สรุปความแตกต่างของ会議 (ไคกิ) กับ 打ち合わせ (อุจิอาวาเซะ)
-ระดับของเรื่องราวในการประชุม 会議 (ไคกิ) จะเป็นเรื่องราวในระดับที่สำคัญกว่า
-会議(ไคกิ) ลักษณะการดำเนินการจะเป็นทางการ ในขณะที่ 打ち合わせ(อุจิอาวาเซะ)จะเป็นลักษณะที่สบายๆมากกว่า
คำว่า 打ち合わせ(อุจิอาวาเซะ) แปลได้อีกอย่าง ประชุมหารือ หรือปรึกษาหารือ มีตติ้ง ประมาณนี้น่าจะเหมาะ
ส่วน 会議(ไคกิ) คือ การประชุมจริงๆ ประชุมในลักษณะที่มีพิธีการ มีความเป็นทางการมากกว่า
บทความนี้ก็จบแต่เพียงเท่านี้ครับ