ทำไมเด็กรุ่นใหม่ทำงานไม่ทนและวิธีแก้ไข

ทำไมเด็กรุ่นใหม่ทำงานไม่ทนและวิธีแก้ไข

แชร์บทความนี้

เด็กรุ่นใหม่ในความหมายของผมขอพูดถึงGen Y แล้วกันนะครับ 

เพราะส่วนตัวอาจจะไม่ค่อยได้สัมผัสกับGen Z  สักเท่าไหร่

ตัวผมเองก็เป็นคนGen Y ครับ

และเป็นหนึ่งในเด็กรุ่นใหม่ที่ทำงานไม่ทนครับ

ผมเคยย้ายบริษัทมาประมาณนึงเลยครับก่อนที่จะมาเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่นฟรีแลนซ์

ที่จริงแล้วสาเหตุที่ผมมาเป็นฟรีแลนซ์ก็เพราะเรื่องของการไม่ชอบทำงานที่เดิมนานๆด้วยแหล่ะครับ

ถึงจะบอกว่าเป็นGen Y แต่ก็คงเหมารวมว่านิสัยGen Y จะเหมือนกันทั้งหมดก็ไม่ใช่นะครับ

ผมเชื่อว่าก็มีGen Y หลายคนทำงานด้วยทัศนคติที่สามารถทนต่อความลำบากได้ครับ

ไม่เหมารวมแล้วกันนะครับ แต่ขอแชร์ในมุมมองของเด็กที่ทำงานไม่ทนให้ฟังเท่านั้นครับ

 

ถึงในช่วงที่ผมพึ่งเริ่มทำงานจะทำงานไม่ทน แต่พอทำงานมานานประมาณนึงผมเริ่มเปลี่ยนไปครับ

ในวัยกลางคนของผม ผมเริ่มปรับตัวได้และอยู่ในองค์กรได้ดีประมาณนึงนะครับ

เรียกว่าเริ่มมีความคิดอยากจะกลับไปทำงานประจำเลย

เนื่องจากเรื่องของรายได้ เรื่องของเสียดายเวลาที่ว่างแล้วไม่มีเงินเข้ามา เรื่องของอายุที่เริ่มเยอะกลัวไม่ได้งานล่ามเข้ามา

 

ในช่วงเริ่มต้นของการทำงานผมทำงานประจำมา 4 ที่ครับ 

เหตุผลของการย้ายงานทุกที่ เชื่อมั้ยครับ ว่าไม่ใช่เรื่องของความก้าวหน้าเลย

แต่ทุกครั้งที่ย้าย โชคดีที่ได้ความก้าวหน้าเข้ามาด้วย

เลยกลายเป็นผลดีจากความล้มเหลวในการทำงานไป

 

ทำไมผมถึงเรียกว่าความ “ล้มเหลว”

เพราะทุกที่ ที่ผมออกมานั้น ออกมาแบบเรียกได้ว่า ยังทำงานอะไรไม่ได้ดีสักเท่าไหร่ ไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอันอะไรเลย

บางที่เรียกว่า “สอบตก” ก็คงจะได้ 

และแต่ละที่ก็ออกมาแบบไม่มีเหตุผลที่ดีซะด้วย

 

สาเหตุที่ออกจากงานที่แรก

ที่แรกผมลาออก เพราะอยู่ๆก็รู้สึกว่าไม่อยากทำงานนี้แล้ว รู้สึกว่างานเยอะ และยากเกินไป ผมไม่อยากรับภาระของงานอีกแล้ว

มานึกดูย้อนหลังนะครับ งานก็ไม่ได้ยากอะไรเท่าไหร่ครับ ปริมาณงานก็ไม่ได้เยอะเท่าไหร่ด้วย

และในวันที่ผมตัดสินใจลาออก ผมก็ไปทำงานเข้าออฟฟิศตามปกตินะครับ ไปแต่เช้าด้วย

แต่พอนั่งโต๊ะไปเรื่อยๆ จิตมารก็มาเข้าสิง ลองคิดดูชีวิตที่ไม่ต้องเข้ามาทำงานที่นี่อีกแล้วจะเป็นยังไง

ผมรู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอกครับ ผมรู้สึกดีและมีความสุขมากกว่าตอนที่ทำงานอยู่ที่นี่

ผมเลยเดินไปบอกรุ่นพี่เลยว่า “ผมจะลาออกแล้วนะครับ”

และก็เก็บของออกจากบริษัทซะดื้อๆเลย

ออกแบบ”ชักปลั๊ก” สัญญาณหายกลางอากาศเลยครับ

ไม่แนะนำให้ใครทำแบบนี้เลยนะครับ แย่มากครับ เป็นคนที่ไม่มีความรับผิดชอบเลย

ถ้าลองนึกดู น่าจะเป็นที่เรามีความรู้สึกไม่ดีกับที่ทำงานอยู่แล้วด้วยน่ะครับ บวกกับตัวเองที่เป็นคนขี้เกียจ เป็นเด็กที่ไม่มีจุดหมายในชีวิต

ตอนที่หางานกว่าจะได้ที่นี่ก็แทบแย่ เพราะหางานแทบไม่ได้เลยครับ

สุดท้ายตัดสินใจลาออกง่ายๆ และไม่ได้หางานสำรองไว้เลย

 

ที่ต่อมาผมโชคดีที่หางานได้หลังจากออกจากที่แรกในเวลาไม่ถึง 10 วัน

โชคดีมาก น่าจะเป็นเพราะเราได้ภาษาจากที่แรกมาบ้าง

เลยเริ่มสัมภาษณ์รู้เรื่อง ญี่ปุ่นให้โอกาสเราในการพัฒนาตัวเอง

สุดท้ายลาออกจากที่นี่ เพราะ ถูกกดดันหนัก รับความกดดันไม่ไหวเลยลาออก

ผมมีเล่าเรื่องที่ถูกกดดันไว้บ้างในบทความ“ที่ทำงานไม่ใช่โรงเรียน”ครับ 

ที่ทำงานไม่ใช่โรงเรียน!!

 

เรื่องราวที่ออกจากงานที่สอง

คือที่ทำงานที่ 2 ของผมนี่นะครับ ที่จริงแล้วในช่วงแรกของการทำงาน

ผมค่อนข้างมีความสุข แฮปปี้ในหลายๆอย่าง

ได้เดินทางไปต่างประเทศบ่อย

ได้ฝึกภาษาญี่ปุ่นประมาณนึง

งานส่วนใหญ่ไม่ต้องนั่งออฟฟิศ

ผมทำงานไปได้สัก 9 เดือน ที่เริ่มโดนกดดัน โดนต่อว่าหนัก มันทำให้ผมเสียความรู้สึกครับ

หลังจากนั้นมาก็เริ่มไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่แล้วในการทำงาน

จากที่เคยชิล สนุก รู้สึกอิสระ ก็รู้สึกกดดัน อึดอัด

มีอยู่วันนึง ผมยังจำได้เลยมาถึงวันนี้

ผมโดนดุ อย่างหนัก ชนิดที่ผมเองก็แก้ตัวไม่ออก ที่จริงก็ผิดจริงๆแหล่ะ

เจ้านายที่เคยใจดี หลังจากวันนั้นก็เคี่ยวผมหนัก น่าจะเพราะอยากให้เก่งขึ้นเร็วๆ

แต่ผมเสียความมั่นใจ และกลัว และเครียดมาก 

เครียดชนิดกินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ เก็บไปคิดมากเป็นเวลาหลายวัน

จากวันนั้นผมไม่เคยรู้สึกมีความสุขกับที่ทำงานอีกเลย รู้สึกแต่ความทุกข์ครับ

นอกจากเรื่องงานแล้ว สังคมก็กดดันผมครับ เพราะว่าผมทำงานไม่เก่ง

ไม่มีใครให้คุณค่ากับผม คอยแกล้งผม ดูถูกผม พูดจากกันแบบไม่ให้เกียรติกัน

ทุกอย่างนี้ประกอบกัน มันทำให้ผมไม่อยากอยู่ที่นี่แล้วครับ

ถามว่ารายได้เป็นยังไง ก็ไม่ได้มากมายอะไรครับ แต่สำหรับผมแล้วพออยู่ได้ครับ

ผมก็ลาออกไปหาที่ใหม่โดยที่ยังไม่ได้หางานสำรองไว้เลย เงินสำรองก็แทบจะไม่มี

แต่ยังคงมาทำงานต่ออีก 30 วัน ก่อนที่จะออก ถือว่าออกอย่างถูกต้องตามกติกา ดูมีทรงกว่าที่แรกเยอะ

 

ความสุข= Health Point (HP)

ตรงนี้นะครับ ผมอยากจะบอกให้เหล่าผู้บริหารให้ทราบไว้เลยนะครับ

รายได้ ดีหรือไม่ดี ไม่สำคัญเท่า ทำให้พนักงานสบายใจ มีความสุขนะครับ

เพราะความสุขเหมือนเป็นพลังชีวิตครับ ทำให้เค้าทำงานกับเราได้นาน

ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เค้าต้องมาทน เครียด มาที่ทำงานแล้วหนักใจ ทรมานใจเค้าจะทำงานให้เราได้ไม่นานครับ

แม้ว่าจะให้เงินเค้าดีแค่ไหนก็ตาม องค์กรดูมีอนาคตแค่ไหน

คนเราเหนื่อยกายไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเหนื่อยใจ ท้อใจ จิตตก อันนี้น่าจะอยู่ได้ไม่นานครับ

อันนี้ผมสังเกตมาจากหลายๆคนนะครับ

ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกเพราะที่ใหม่ให้รายได้ดีกว่า แต่ออกเพราะทรมานใจ ไม่มีความสุขครับ

 

เรื่องเล่าจากลูกน้องของผมเอง

ผมเองก็เคยรับลูกน้องมาทำงานธุรกิจส่วนตัวเหมือนกันนะครับ

ผมได้ลูกน้องมาคนนึง ทำงานให้ผมเกือบ 2 ปี

ผมดูแลลูกน้องคนนี้ให้เค้าทำงานอย่างสบายใจที่สุด

ทำให้เค้ารู้สึกมั่นใจ มอบความรัก มอบความเคารพ ให้ความไว้วางใจ

ตอนลาออกเค้ายังไม่อยากจะออกเลย

พอออกไปก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกันอยู่ พูดคุยทักทายกันได้

หลังจากเค้าลาออกไปได้ 1 ปี ผมเรียกให้กลับมาทำงานใหม่

แต่คราวนี้ผมไม่ตามใจเค้าแล้ว เริ่มเข้มงวด เริ่มใช้อำนาจบ้าง

ปรากฏว่าอยู่ไม่ถึงเดือน ก็ลาออกเลยครับ และเข้าหน้ากันไม่ติดเลย

ผมแค่ดุเค้าไปหน่อยเดียวเท่านั้นนะครับ เค้าไม่ฟังเราอบรมแต่เลือกที่จะลาออกเลยครับ

ลูกจ้างผมคนนี้ก็เป็นGEN Y เหมือนกันอายุน้อยกว่าผมสัก 5-6ปีได้ครับ

 

เหตุผลที่ผมลาออกจากบริษัทที่ 3

หลังจากผมแจ้งลาออกจากที่สองไปแล้ว

ผมยังคงทำงานต่ออีก 30 วัน เพื่อเป็นช่วงเวลาของการส่งต่องาน

ในระหว่างนั้นผมก็โชคดีอีกแล้วครับ ที่สัมภาษณ์งานได้ที่ทำงานที่ 3 

เป็นงานในตำแหน่ง”ล่ามภาษาญี่ปุ่น”เลยครับ

เรียกว่าเป็นครั้งแรกเลยที่ทำงานนี้

ผลงานเป็นยังไงน่ะหรือ “ไม่เป็นท่า”เลยครับ

ผมแปลไม่ได้เลยครับ

หัวหน้าผมจับผมไปทำงานอื่นที่ไม่ได้เป็นงานล่ามภาษาญี่ปุ่น

แต่งานแปลเอกสารผมทำได้นะครับ ค่อนข้างทำได้ประมาณนึงเลยทีครับ

แต่การพูดคุยและฟังทำไม่ค่อยได้

เชื่อว่าล่ามหลายคนที่จบจากมหาวิทยาลัยในไทยส่วนใหญ่จะเจอปัญหานี้

ผมมีเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ที่บทความนี้ครับ

ทำไมเรียนมหาลัยเอกญี่ปุ่นมา4 ปีแล้วยังพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้

ทำไมเรียนมหาลัยเอกญี่ปุ่นมา4 ปีแล้วยังพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้

 

หลายๆครั้งที่ได้แปลล่ามผมทำแทบไม่ได้เลยครับ

สกิลฟังและพูดเรียกว่าอ่อนหัดมาก

และทุกครั้งที่แปลไม่ได้ ก็จะถูกญี่ปุ่นใช้ให้ไปเรียกล่ามคนที่แปลได้เข้ามาแปลแทน

ผมเจ็บปวดและอายมากๆเลยครับ TT

วันเวลาผ่านไปมีทั้งวันที่ดี และวันที่ไม่ดี

แม้ว่าจะโดนดูถูก ทำงานไม่ได้ เข้ากับเพื่อนร่วมงานได้บ้างไม่ได้บ้าง

แต่สุดท้ายสาเหตุที่ผมออกจากงานนี้ คือ 

ผมถูกบังคับให้ทำงานอย่างนึงจากหัวหน้า 

ซึ่งเป็นงานที่ผมไม่อยากทำ ไม่ชอบเอาซะเลย เพราะไม่ถนัด และมันยากเกินไปหน่อยสำหรับผม

ผมปฏิเสธไม่รับทำ แต่หัวหน้าไม่ยอม บังคับให้ผมรับงานนี้ให้ได้

สำหรับคนอื่นอาจจะมองว่างานนี้จิ๊บจ๊อยมากๆ

แต่สำหรับผมที่ไม่ถนัดพวกงานโปรเจคหรือกิจกรรม

ผมรู้สึกเหมือนโดนกดน้ำครับ

ผมเลยตัดสินใจลาออกเลยครับ

เหมือนห้วนๆสั้น เพราะอยากหนีงาน

เหมือนจะเป็นคนเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ

เหมือนเป็นคนทัศนคติไม่ค่อยดีในการทำงาน ไม่อดทน

แปลงความรู้สึกต่างๆมาเป็นเชิงลบได้ง่าย เป็นคนคิดมาก

แต่สิ่งที่ผมรู้สึกแน่ๆคือ ผมอึดอัด ผมกดดัน ไม่มีความสุข

สักพักก็แจ้งลาออกเลย

แม้ว่าคนญี่ปุ่นจะเสนอให้เงินเดือนผมเพิ่มด้วยนะครับ

แต่ผมไม่รับข้อเสนอครับ ผมไม่อยากทำงานที่ตัวเองไม่อยากทำครับ

สรุปเหมือนลาออกแบบหนีตายทั้ง 3 ที่เลย 

รวมระยะเวลาทำงานทั้งสามที่นี้ 2 ปีพอดีเลยครับ

 

การลาออกครั้งที่ 4 และการลาออกครั้งสุดท้ายของชีวิตพนักงานประจำ

เหมือนจะฟังดูเป็นคนล้มเหลวเลยนะครับ จาก 3 บริษัทที่เล่ามา

ทั้งนี้ก็อยู่ที่มุมมองของคนนะครับ

อาจจะไม่น่าภาคภูมิใจนัก แต่ถ้ามองในแง่ดี

เรื่องเงินเดือนผมขึ้นมาเรื่อยๆเลยนะครับ ถ้านับเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ได้เกินกว่า 50%ครับ  

พร้อมๆกับภาษาญี่ปุ่นที่ดีขึั้นเรื่อยๆแม้ว่าอาจจะยังไม่อยู่ในระดับที่ใช้งานได้ดี

หลังจากผมแจ้งลาออกจากบริษัทที่ 3 

ในระหว่างที่ผมทำงาน 30 วันก่อนออกเพื่อถ่ายงาน (ตามกติกาอีกแล้วนะครับ)

ผมก็ไปได้งานอีกที่นึงอีกแล้วครับ!!

ซึ่งถือว่าเป็นโชคดีของผมมาก ที่ออกปุ๊บก็หางานได้ทันที

บวกกับเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นอีกจากเดิมอีก 50% 

 

บริษัทที่ 4 

ที่นี่เป็นบริษัทที่ไม่ใหญ่เลย เป็นบริษัทเทรดดิ้งเล็กๆ มีพนักงานรวมไม่ถึง 15 คนเลย

สวัสดิการไม่ได้มีอะไรดีเท่าไหร่เลย

องค์กรที่พูดชื่อไปก็ไม่มีใครรู้จัก

แต่ที่นี่กลับเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับผมมากเลย

ผมเติบโตและได้เรียนรู้งานจากที่นี่เยอะที่สุดแล้วครับ

ผมรู้สึกภูมิใจในตัวเองหลายๆเรื่อง และพอที่จะมีสิ่งที่ผมทำให้กับบริษัทได้บ้าง

หัวใจหลักเลยคือ ผมได้รุ่นพี่ที่ดี เก่ง สอนงานเป็น กฏเกณฑ์ไม่เข้มงวดมาก บรรยากาศสบายๆและเป็นกันเอง

สิ่งต่างๆเหล่านี้มันทำให้ผมพอจะตั้งหลักได้ ไม่อยู่ในสถานการณ์กดดันไป ทำให้เกิดสภาวะตั้งใจอย่างเต็มที่

ที่จริงแล้วผมเลือกที่จะทำที่นี่เพราะพี่คนนี้ นี่แหล่ะ ผมรู้จักเค้าไม่กี่นาที แต่ผมเห็นการคุยของเค้าแล้วผมรู้สึกเคมีลงตัวอย่างประหลาด

โชคดีที่ผมมองคนไม่ผิด เค้าเป็นคนดี เก่ง และเข้ากับผมได้อย่างที่คิดไว้เลย

ผมถือว่าเค้าเป็นผู้มีพระคุณเลย ต้นแบบจากเค้าทำให้ผมเป็นผู้เป็นคนมาได้จนถึงวันนี้

ผมทำที่นี่อยู่ได้ประมาณเกือบ 2 ปีครับ

ที่นี่สอนอะไรผมมากครับ ผมถือว่าเติบโตและได้เรียนรู้เยอะมากจากที่นี่

นอกจากสิ่งที่เรียนรู้ ที่นี่สร้างให้ผมมีความมั่นใจครับ

น่าจะเป็นเพราะการทำงานแบบที่เค้าไม่คอยมาบั่นทอนกำลังใจกัน มาด่าว่าให้รู้สึกต้อยต่ำ

ประสบการณ์การในบริษัทที่ 4 สอนผมว่า

คนเรามีสถานที่ที่เหมาะกับการเรียนรู้และเติบโตไม่เหมือนกัน

ผมแนะนำว่าอย่าพึ่งท้อแท้กับการทำงาน คนเราไม่เหมือนกัน บางคนเรียนรู้ได้ดีในองค์กรณ์ที่ใหญ่

บางคนชอบอยู่องค์กรเล็ก

บางคนชอบสังคมกว้าง บางคนชอบสังคมเล็กๆ

บางคนชอบให้เคี่ยวกร่ำอบรมแบบเข้มๆ

บางคนชอบให้ใจดี ชอบไปแบบนิ่มๆ ค่อยๆหัดเดิน

บางคนชอบให้คนพูดให้กำลังใจ ให้เกียรติ เพื่อดึงความเชื่อมั่น

ในช่วงแรกของการทำงาน ผมอยากให้เด็กจบใหม่มองหาองค์กรที่สร้างโอกาสในการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเอง

เรื่องการเรียนรู้ผมว่าสำคัญกว่าเงินที่ได้ในช่วงแรกมากครับ

เพราะพอเราเก่ง เงินจะตามมาเอง

ก่อนจะทำเงินได้ เราจะต้องมี High Income Skill ก่อน

แน่นอนก่อนที่เราจะเริ่มฝึกอาชีพอะไร ก็ควรศึกษาตลาดของอาชีพก่อนก็จะได้เปรียบเรื่องรายได้

 

สุดท้ายผมลาออกจากที่ที่4 ด้วยเหตุผล “ผมไม่มีความสุขกับงานของผม” 

คือผมไม่ได้โดนใครกดดันให้เครียดนะครับ

ผมโอเคกับขอบข่ายงาน รูปแบบงาน เพื่อนร่วมงาน รายได้

ที่อยากออกโดยรวมๆน่าจะเรียกว่า เบื่องาน หมดไฟ แค่นึกว่าต้องมาทำงานก็รู้สึกเบื่อหน่ายแล้ว

ผมอยากทำงานที่ตัวเองรู้สึกสนุกและมีไฟ กระตุ้นต่อมอยากรู้อยากเห็นของตัวเอง

ผมเริ่มสงสัยกับเป้าหมายในชีวิตของตัวเอง เราต้องการทำอะไร? เราต้องการทำงานอะไร? งานอะไรที่เราชอบ?

ผมอยากหางานที่ตัวเองรู้สึกอยากทำ อยากทำงานที่รัก

เรียกว่าแม้ว่าจะไม่มีความสุข แต่ก็ไม่ได้ออกแบบ”หนีตาย” เหมือนครั้งที่ผ่านๆมา

หลังจากนั้นผมก็ไม่เคยทำงานประจำอีกเลยจนถึงวันนี้ก็เกิน 10 ปีแล้วครับ

 

ความสุขคือสิ่งที่ช่วยให้คนทำงานได้นาน

ผมคิดว่าความสุขเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการดึงคนรุ่นใหม่(GEN Y ) ให้ยังคงทำงานต่อได้ครับ

การจะเติมเต็มความสุขให้ได้จะต้องมีความเข้าใจในคนอย่างลึกซึ้ง

แต่ละคนมีสิ่งที่รู้สึกสุขไม่เหมือนกัน 

สำหรับผมคิดว่าไม้อ่อนจะทำให้คนอยู่ได้นานกว่าการใช้ไม้แข็ง

แม้ว่าไม้แข็งจะช่วยจัดระเบียบให้ได้มากขึ้น แต่บั่นทอนจะกำลังใจของลูกน้อง

การสร้างความสุขทางใจจะดึงใจคนได้มากกว่าความสุขจากวัตถุหรือทางกาย

เคารพศักดิ์ศรีคน รักษาน้ำใจคน ให้เกียรติคน ให้ความรัก ให้แรงบันดาลใจ ให้ความอบอุ่น ให้ความเชื่อใจ

ความรู้สึกเชิงบวกจะฟื้นพลังใจให้เค้ายังอยากที่จะสู้ต่อไปกับบริษัทอย่างมีความสุข

 

ในยุคนี้คนมีทางเลือกมากขึ้น

ถ้าลองสังเกตจากเรื่องของผมก็ได้นะครับ 

ขนาดในช่วงนั้นงานในเน็ต เทคโนโลยีหรือธุรกิจอื่นๆยังไม่มาเต็มเหมือนทุกวันนี้นะครับ

อย่างถ้าเป็นทุกวันนี้ การขายของออนไลน์ การทำยูทูป การทำAffiliate งานตัดต่อวีดีโอ การเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่อิสระมากขึ้น มันช่วยให้คนหาแหล่งรายได้อื่นนอกจากงานประจำได้ง่ายมากขึ้น

ช่องทางรายได้อิสระมันเยอะมากครับ งานไม่ได้จำกัดอยู่ที่บริษัทอย่างเดียวแล้ว

และอาจจะเป็นสังคมไทยด้วยที่ยังโชคดีที่มีสล็อตงานว่างอยู่บ้าง

มีโอกาสให้กับคนที่มีประสบการณ์จั๊มเงินเดือนไปสมัครที่ใหม่แล้วได้อัพเงินเดือน

อย่างเรื่องของผมออกจากงานยังโชคดีหางานได้ทุกครั้งเลย โดยที่ทุกครั้งไม่เคยว่างงานเกิน 1 เดือนเลย

และบังเอิญว่าทุกครั้งก็ได้เงินที่เยอะกว่าเดิมตลอดด้วย (เรื่องนี้น่าจะเป็นที่อุตสาหกรรม)

เด็กรุ่นใหม่Gen Y เมื่อถูกกดดัน เมื่อเริ่มตั้งคำถามถึงความสุขของชีวิต ก็จะลาออกได้อย่างไม่ยาก

เพราะออกมาแล้วยังมีทางไปให้เลือกอีก และยังเฝ้ามองหาความหมายของชีวิต ไล่ตามความฝันของเค้าต่อไป

 

ใครอาจจะบอกว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่มีความอดทน ทำงานไม่เท่าไหร่ก็ออก

แต่ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นที่บริบทของยุค และคุณค่าที่ยึดถือของคนที่ต่างกัน

เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้เชื่อว่างานที่เลี้ยงชีวิตเราได้ทั้งชีวิตเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

การที่เค้าจะไม่ทนต่อความกดดันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เค้ารู้แล้วว่าความฝันของเค้าคืออะไร ต่อให้ลำบากแค่ไหนผมเชื่อว่าเค้าก็จะพยายามทำมันจนกว่าจะได้สิ่งนั้นมา

 

 

ขอฝากเพจ ให้ล่ามเล่าด้วยนะครับ

https://www.facebook.com/hailamloa

 

Facebook Comments Box

แชร์บทความนี้
Author: hailamloa
ล่ามภาษาญี่ปุ่นที่ชอบเรื่องธุรกิจ การลงทุน อสังหา บอร์ดเกม เล่นเกม เล่นหมากรุก